Dictionary : English, Thai, Pali. Link : Lexitron, RoyDict, BudDict, ETipitaka, PpmDict, Longdo.
Search: เป็นพิเศษ, พิเศษ, เป็น , then ปน, เป็น, เป็นพิเศษ, พิเศษ, วิเศษ .

Budhism Thai-Thai Dict : เป็นพิเศษ, 1619 found, display 1001-1050
  1. วิญญาณ : ความรู้แจ้งอารมณ์, จิต, ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน เช่น รูปอารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตา เป็นต้น ได้แก่ การเห็น การได้ยินเป็นอาทิ; วิญญาณ ๖ คือ ๑.จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา(เห็น) ๒.โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน) ๓.ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก(ได้กลิ่น) ๔.ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น(รู้รส) ๕.กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย) ๖.มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)
  2. วิญญาณฐิติ : ภูมิเป็นที่ตั้งของวิญญาณ มี ๗ คือ ๑.สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกมนุษย์ พวกเทพบางหมู่ พวกวินิปาติกะ บางหมู่ ๒.สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพผู้อยู่ในจำพวกพรหมผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน ๓.สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพอาภัสสระ ๔.สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพสุภกิณหะ ๕.สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ ๖.สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ ๗.สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากิญจายตนะ
  3. วิญญาณัญจายตนะ : ฌานอันกำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ (ข้อ ๒ ในอรูป ๔)
  4. วิญญาณาหาร : อาหารคือวิญญาณ, วิญญาณเป็นอาหารคือเป็นปัจจัยอุดหนุนหล่อเลี้ยงให้เกิดนามรูป (ข้อ ๔ ในอาหาร ๔)
  5. วิตก : ความตรึก, ตริ, การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือปักจิตลงสู่อารมณ์ (ข้อ ๑ ในองค์ฌาน ๕), การคิด, ความดำริ; ไทยใช้ว่าเป็นห่วงกังวล
  6. วิตกจริต : พื้นนิสัยหนักในทางตรึก, มีวิตกเป็นปกติ, มีปกตินึกพล่านหรือคิดจับจดฟุ้งซ่าน, ผู้มีจริตชนิดนี้พึงแก้ด้วย เพ่งกสิณ หรือเจริญอานาปานสติ
  7. วิเทหะ : ชื่อแคว้นหนึ่งในชมพูทวีป นครหลวงชื่อมิถิลา เป็นดินแดนพวกวัชชีอีกถิ่นหนึ่ง ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำคงคา ตรงข้ามกับแคว้นมคธ
  8. วินยสมฺมุขตา : ความเป็นต่อหน้าวินัย ในวิวาทาธิกรณ์ หมายถความว่าปฏิบัติตามธรรมวินัยและสัตถุศาสน์อันเป็นเครื่องระงับอธิกรณ์นั้น
  9. วินัยธร : “ผู้ทรงวินัย”, ภิกษุผู้ชำนาญวินัย; พระอุบาลีเถระ ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาพระวินัยธร
  10. วินัยมุข : มุขแห่งวินัย, หลักใหญ่ๆ หรือหัวข้อสำคัญๆ ทีเป็นเบื้องต้นแห่งพระวินัย หรือเป็นปากทางนำเข้าสู่วินัยเป็นชื่อหนังสือที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงรจนาขึ้น เพื่อชี้ประโยชน์แห่งพระวินัยมุ่งช่วยให้พระภิกษุสามเณรตั้งอยู่ในปฏิบัติพองาม ผู้ไม่เคร่งจะได้รู้จักสำรวมรักษามรรยาทสมเป็นสมณะฝ่ายผู้เคร่งครัดเกินไปจะได้หายงมงาย ไม่สำคัญตนว่าดีกว่าผู้อื่น ตั้งรังเกียจผู้อื่นเพราะเหตุผลเล็กน้อย เพียงสักว่าธรรมเนียมหรือแม้ชักนำผู้อื่นในปฏิบัติอันดี ต่างจะได้อานิสงส์คือไม่มีวิปฏิสาร; ทรงมุ่งหมายเพื่อจะแต่งแก้หนังสือบุพพสิกขาวัณณนาของพระอมราภิรักขิต (อมร เกิด) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส; จัดพิมพ์เป็น ๓ เล่ม ใช้เป็นแบบเรียนนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก ตามลำดับ
  11. วินิบาต : โลกหรือวิสัยเป็นที่ตกไปแห่งสัตว์อย่างไร้อำนาจ, แดนเป็นที่ตกลงไปพินาศย่อยยับ; อรรถกถาแห่งอิติวุตตกะอธิบายนัยหนึ่งว่าเป็นไวพจน์ของคำว่านรกนั่นเอง อีกนัยหนึ่งว่า หมายถึงกำเนิดอสุรกาย
  12. วินิปาติกะ : ท่านว่าได้แก่พวกเวมานิกเปรต คือ พวกเปรตมีวิมานอยู่ได้เสวยสุขและต้องทุกข์ทรมานเป็นช่วงๆ สลับกันไป มีสุขบ้างทุกข์บางคละระคน
  13. วินีตวัตถุ : เรื่องที่ท่านวินิจฉัยแล้ว, เรื่องที่ตัดสินแล้ว ท่านแสดงไว้เป็นตัวอย่างสำหรับเทียบเคียงตัดสิน ในการปรับอาบัติ (ทำนองคำพิพากษาของศาลสูงสุดที่นำมาศึกษากัน)
  14. วิปปวาส : อยู่ปราศ เป็นประการหนึ่งในรัตติเฉท การขาดราตรีแห่งการประพฤติมานัตและการอยู่ปริวาส; สำหรับผู้ประพฤติมานัต วิปปวาส หมายถึง อยู่ในถิ่น (จะเป็นวัดหรือที่มิใช่วัดเช่นป่าเป็นต้นก็ตาม) ที่ไม่มีสงฆ์อยู่เป็นเพื่อน คืออยู่ปราศจากสงฆ์, สำหรับผู้อยู่ปริวาส หมายถึง อยู่ในถิ่นปราศจากปกตัตตภิกษุ (มีปกตัตตภิกษุอยู่เป็นเพื่อนรูปเดียวก็ใช้ได้) ดู รัตติเฉท
  15. วิปัสสนา : ความเห็นแจ้ง คือเห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม; ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลงผิดรู้ผิดในสังขารเสียได้, การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นของมันเอง (ข้อ ๒ ในกัมมัฏฐาน ๒ หรือภาวนา ๒) ดู ภาวนา, ไตรลักษณ์
  16. วิปัสสนาญาณ : ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนามี ๙ อย่าง คือ ๑.อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป ๒.ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมา ๓.ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว ๔.อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นโทษ ๕.นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย ๖.มุจจิตุกัมยตาญาณ ญาณหยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสีย ๗.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง ๘.สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร ๙.สัจจานุโลมิกญาณ ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจ
  17. วิปัสสนาปัญญา : ปัญญาที่ถึงขั้นเป็นวิปัสสนา, ปัญญาที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนา คือ ปัญญาที่พิจารณาเข้าใจสังขารตามความเป็นจริง
  18. วิปัสสนายานิก : ผู้มีวิปัสสนาเป็นยาน คือผู้เจริญวิปัสสนาโดยยังไม่ได้ฌานสมาบัติมาก่อน
  19. วิปัสสนูปกิเลส : อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา, สภาพน่าชื่นชมแต่ที่แท้เป็นโทษเครื่องเศร้าหมองแห่งวิปัสสนาซึ่งเกิดแก่ผู้ได้วิปัสสนาอ่อนๆ ทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว จึงไม่ดำเนินก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนาญาณ มี ๑๐ คือ ๑.โอภาส แสงสว่าง ๒.ปีติ ความอิ่มใจ ๓.ญาณ ความรู้ ๔.ปัสสัทธิ ความสงบกายและจิต ๕.สุข ความสบายกาย สบายจิต ๖.อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ ๗.ปัคคาหะ ความเพียรที่พอดี ๘.อุปัฏฐาน สติชัด ๙.อุเบกขา ความวางจิตเป็นกลาง ๑๐.นิกันติ ความพอใจ
  20. วิปากญาณ : ปรีชาหยั่งรู้ผลแห่งกรรมคือ รู้จักแยกได้ว่า บรรดาผลที่สัตว์ทั้งหลายได้รับอันซับซ้อน อันใดเป็นผลของกรรมดีหรือกรรมชั่วอย่างใดๆ เรียกเต็มว่า กรรมวิปากญาณ (ข้อ ๒ ในทสพลญาณ)
  21. วิปากทุกข์ : ทุกข์ที่เป็นผลของกรรมชั่ว เช่น ถูกลงอาชญาได้รับความทุกข์หรือตกอบาย หรือเกิดวิปฏิสารคือเดือดร้อนใจ
  22. วิภวตัณหา : ความอยากในวิภพ คือความทะยานอยากในความไม่มีไม่เป็น อยากไม่เป็นนั่น ไม่เป็นนี่ อยากตายเสีย อยากขาดสูญ อยากพรากพ้นไปจากภาวะที่จนเกลียดชังไม่ปรารถนา, ความทะยานที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิ หรืออุจเฉททิฏฐิ (ข้อ ๓ ในตัณหา ๓)
  23. วิภังค์ : 1.(ในคำว่า “วิภังคแห่งสิกขาบท”) คำจำแนกความแห่งสิกขาบทเพื่ออธิบายแสดงความหมายให้ชัดขึ้น; ท่านใช้เป็นชื่อเรียกคัมภีร์ที่จำแนกความเช่นนั้นในพระวินัยปิฎกว่าคัมภีร์วิภังค์ คือ คัมภีร์จำแนกความสิกขาบทในภิกขุปาฏิโมกข์ เรียกว่ามหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ คัมภีร์จำแนกความสิกขาบท ในภิกขุนีปาฏิโมกข์เรียกว่าภิกขุนีวิภังค์ เป็นหมวดต้นแห่งพระวินัยปิฎก 2.ชื่อคัมภีร์ที่ ๒ แห่งพระอภิธรรมปิฎก ที่อธิบายจำแนกความแห่งหลักธรรมสำคัญเช่น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ปัจจยาการ เป็นต้น ให้ชัดเจนจบไปทีละเรื่องๆ
  24. วิภัชชวาที : “ผู้กล่าวจำแนก”, “ผู้แยกแยะพูด”, เป็นคุณบทคือคำแสดงคุณลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงแสดงธรรมแยกแจกแจงออกไป ให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากส่วนประกอบย่อยๆ มาประชุมกันเข้าอย่างไร เช่น แยกแยะกระจายนามรูปออกเป็นขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เป็นต้น สิ่งทั้งหลายมีด้านที่เป็นคุณและด้านที่เป็นโทษอย่างไร เรื่องนั้นๆ มีข้อจริงข้อเท็จอะไรบ้าง การกระทำอย่างนั้นๆ มีแง่ถูกแง่ผิดแง่ที่ดีและแง่ไม่ดีประการใด เป็นต้น เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจสิ่งนั้นเรื่องนั้นอย่างชัดเจน มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง เช่นมองเห็นความเป็นอนัตตา เป็นต้น ไม่มองอย่างตีคลุมหรือเห็นแต่ด้านเดียวแล้วยึดติดในทิฏฐิต่างๆ อันทำให้ไม่เข้าถึงความจริงแท้ตามสภาวะ
  25. วิมละ : บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสีเป็นสหายของยสกุลบุตร ได้ทราบข่าวยสกุลบุตรออกบวช จึงได้บวชตามพร้อมด้วยสหายอีก ๓ คน คือ สุพาหุ ปุณณชิ และ ควัมปติ จัดเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง
  26. วิราคสัญญา : กำหนดหมายธรรมเป็นที่สิ้นราคะ หรือภาวะปราศจากราคะ ว่าเป็นธรรมละเอียด (ข้อ ๖ ในสัญญา ๑๐)
  27. วิราคะ : ความสิ้นกำหนัด, ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ, ความหลายออกได้หายติด เป็นไวพจน์ของนิพพาน
  28. วิวาทมูล : รากเหง้าแห่งการเถียงกัน, เหตุที่ก่อให้เกิดวิวาท กลายเป็นวิวาทาธิกรณ์ขึ้น มี ๒ อย่าง คือ ๑.ก่อวิวาทขึ้นด้วยความปรารถนาดี เห็นแก่ธรรมวินัย มีจิตประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ ๒.ก่อวิวาทด้วยความปรารถนาเลว ทำด้วยทิฏฐิมานะ มีจิตประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ
  29. วิวาทมูลกทุกข์ : ทุกข์มีวิวาทเป็นมูล, ทุกข์เกิดเพราะการทะเลาะกันเป็นเหตุ
  30. วิวาทาธิกรณ์ : วิวาทที่จัดเป็นอธิกรณ์, การวิวาทซึ่งเป็นเรื่องที่สงฆ์จะต้องเอาธุระดำเนินการพิจารณาระงับ ได้แก่ การเถียงกันปรารภพระธรรมวินัย เช่นเถียงกันว่า สิ่งนี้เป็นธรรม เป็นวินัย สิ่งนี้ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย ข้อนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ข้อนี้ไม่ได้ตรัสไว้ ดังนี้เป็นต้น
  31. วิศาขนักษัตร : หมู่ดาวฤกษ์ชื่อวิศาขะ (ดาวคันฉัตร) เป็นหมู่ดาวฤกษ์ที่ ๑๖ มี ๕ ดวง ดู ดาวนักษัตร
  32. วิสสาสะ : 1.ความคุ้นเคย, ความสนิทสนม การถือว่าเป็นกันเอง, ในทางพระวินัย การถือเอาของของผู้อื่นที่จัดว่าเป็นการถือวิสสาสะ มีองค์ ๓ คือ ๑.เคยเห็นกันมา เคยคบกันมา หรือได้พูดกันไว้ ๒.เจ้าของยังมีชีวิตอยู่ ๓.รู้ว่าของนั้นเราถือเอาแล้ว เขาจักพอใจ, บัดนี้นิยมเขียน วิสาสะ 2.ความนอนใจ ดังพุทธดำรัสว่า “ภิกษุเธอยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว อย่าได้ถึง วิสสาสะ (ความนอนใจ)”
  33. วิสัย : ภูมิ, พื้นเพ, อารมณ์, เขต, แดน, ลักษณะที่เป็นอยู่, ไทยใช้ในความหมายว่า ขีดขั้นแห่งความเป็นไปได้ หรือขอบเขตความสามารถ
  34. วิสาขบูชา : การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า, วิศาขบูชา ก็เขียน
  35. วิสาขา : ชื่อมหาอุบาสิกาสำคัญในครั้งพุทธกาล เป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐี และนางสุมนา เกิดที่เมืองภัททิยะในแคว้นอังคะ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ต่อมาได้ย้ายตามบิดามาอยู่ที่เมืองสาเกตในแคว้นโกศลแล้วได้สมรสกับนายปุณณวัฒน์บุตรชายมิคารเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี และย้ายไปอยู่ในตระกูลฝ่ายสามี นางสามารถกลับใจมิคารเศรษฐี บิดาของสามี ซึ่งนับถือครนถ์ ให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา มิคารเศรษฐีนับถือนางมาก และเรียกนางวิสาขาเป็นแม่ นางวิสาขาจึงได้ชื่อใหม่อีกอย่างหนึ่งว่า มิคารมารดา (มารดาของมิคารเศรษฐี) นางวิสาขาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์อย่างมากมาย และได้ให้ขายเครื่องประดับประจำตัวตั้งแต่แต่งงาน เรียกชื่อว่า มหาลดาปสาธน์ ซึ่งมีค่าสูงยิ่ง นำเงินมาสร้างวัดถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์คือ มิคารมาตุปราสาท วัดบุพพาราม ณ พระนครสาวัตถี นางวิสาขามีบุตรหลานมากมายล้วนมีสุขภาพดีแทบทั้งนั้น แม้นางจะมีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี ก็ดูไม่แก่ และเป็นบุคคลที่ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางในสังคม ได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาทายิกาทั้งปวง
  36. วิสุทธิ : ความบริสุทธิ์, ความหมดจด, การชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ด้วยการบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดหมายคือพระนิพพาน มี ๗ ขั้น คือ ๑.สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล ๒.จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิตต์ ๓.ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ ๔.กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย ๕.มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องรู้เห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง ๖.ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน ๗.ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ กล่าวคือ มรรคญาณ
  37. วิหาร : ที่อยู่, ที่อยู่ของพระสงฆ์; ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่กับโบสถ์; การพักผ่อน, การเป็นอยู่หรือดำเนินชีวิต
  38. วิหารธรรม : ธรรมเป็นเครื่องอยู่, ธรรมประจำใจ, ธรรมที่เป็นหลักใจในการดำเนินชีวิต
  39. วิเหสกกรรม : กรรมที่จะพึงกระทำแก่ภิกษุผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก คือ ภิกษุประพฤติอนาจาร สงฆ์เรียกตัวมาถาม นิ่งเฉยเสียไม่ตอบ เรียกว่าเป็นผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก, สงฆ์ยกวิเหสกกรรมขึ้น คือสวดประกาศการที่เธอทำตัวเช่นนั้น ด้วยญัตติทุติยกรรม เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้วเธอยังขืนทำอย่างนั้นอยู่อีก ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์ (สิกขาบทที่ ๒ ในภูตคามวรรคที่ ๒) คู่กับ อัญญวาทกกรรม
  40. วุฏฐานคามินี : 1.วิปัสสนาที่ให้ถึงมรรค, วิปัสสนาที่เจริญแก่กล้าถึงจุดสุดยอด ทำให้เข้าถึงมรรค (มรรคชื่อว่าวุฏฐานะ โดยความหมายว่าเป็นที่ออกไปได้จากสิ่งที่ยึดติดถือมน หรืออกไปพ้นจากสังขาร), วิปัสสนาที่เชื่อมต่อให้ถึงมรรค 2.“อาบัติที่ให้ถึงวุฏฐานวิธี” คือ อาบัติที่จะพ้นได้ด้วยอยู่กรรม หมายถึงอาบัติสังฆาทิเสส, คู่กับเทสนาคามินี คืออาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดง (ตั้งแต่ถุลลัจจัยลงมา)
  41. วุฏฐานวิธี : ระเบียบเป็นเครื่องออกจากอาบัติ หมายถึงระเบียบวิธีปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้จะเปลื้องตนจากอาบัติหนักขั้นสังฆาทิเสส, มีทั้งหมด ๔ อย่าง คือ ปริวาส มานัต อัพภาน และปฏิกัสสนา
  42. วุฏฐานสมมติ : มติอนุญาตให้ออกจากความเป็นสิกขมานาเพื่ออุปสมบทเป็นภิกษุณี, นางสิกขมานาผู้สมาทานสิกขาบท ๖ ข้อ ตั้งแต่ปาณาติปาตา เวรมณี ถึงวิกาลโภชนา เวรมณี โดยมิได้ขาด ครบเวลา ๒ ปีแล้ว จึงมีสิทธิขอวุฏฐานสมมติ เพื่ออุปสมบทเป็นภิกษุณีต่อไป
  43. วุฑฒิ : ธรรมเป็นเครื่องเจริญ, ธรรมเป็นเหตุให้ถึงความเจริญ มี ๔ อย่าง คือ ๑.สัปปุริสสังเสวะ คบหาสัตบุรุษ ๒.สัทธัมมัสสวนะ ฟังสัทธรรม ๓.โยนิโสมนสิการ ทำในใจโดยแยบคาย ๔.ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม, เรียกและเขียนเป็นวุฒิบ้าง วุฑฒิธรรมบ้าง วุฒิธรรมบ้าง, ในบาลีเรียกว่า ธรรมที่เป็นไปเพื่อปัญญาวุฑฒิ หรือ ปัญญาวุฒิ คือ เพื่อความเจริญแห่งปัญญา
  44. วุฒิ : ความเจริญ, ความงอกงาม, ความเป็นผู้ใหญ่; ธรรมให้ถึงความเจริญ ดู วุฑฒิ
  45. เวทนา : ความเสวยอารมณ์, ความรู้สึก, ความรู้สึกสุขทุกข์ มี ๓ อย่าง คือ ๑.สุขเวทนา ความรู้สึกสุขสบาย ๒.ทุกขเวทนา ความรู้สึกไม่สบาย ๓.อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ เรียกอีกอย่างว่า อุเบกขาเวทนา; อีกหมวดหนึ่งจัดเป็น เวทนา ๕ คือ ๑.สุข สบายกาย ๒.ทุกข์ ไม่สบายกาย ๓.โสมนัส สบายใจ ๔.โทมนัส ไม่สบายใจ ๕.อุเบกขา เฉยๆ; ในภาษาไทย ใช้หมายความว่าเจ็บปวดบ้าง สงสารบ้าง ก็มี
  46. เวทนานุปัสสนา : สติตามดูเวทนา คือ ความรู้สึกสุขทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์เป็นอารมณ์โดยรู้เท่าทันว่า เวทนานี้ ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา (ข้อ ๒ ในสติปัฏฐาน ๔)
  47. เวมานิกเปรต : เปรตอยู่วิมาน ได้เสวยสุขและทุกข์สลับกันไป บางตนข้างแรมเสวยทุกข์ ข้างขึ้นเสวยสุข บางตนกลางคืนเสวยสุข กลางวันเสวยทุกข์ เวลาเสวยสุขอยู่ในวิมาน มีร่างเป็นทิพย์สวยงาม เวลาจะเสวยทุกข์ต้องออกจากวิมานไป และร่างกายก็กลายเป็นน่าเกลียดน่ากลัว
  48. เวร : ความแค้นเคือง, ความปองร้ายกัน, ความแก้เผ็ด, ความคิดร้ายตอบแก่ผู้ทำร้าย; ในภาษาไทยใช้อีกความหมายหนึ่งด้วยว่าคราว, รอบ, การผลักกันเป็นคราวๆ, ตรงกับ วาร หรือวาระ ในภาษาบาลี
  49. เวสารัชชกรณธรรม : ธรรมทำความกล้าหาญ, ธรรมเป็นเหตุให้กล้าหาญ, คุณธรรมที่ทำให้เกิดความแกล้วกล้า มี ๕ อย่าง คือ ๑.ศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ๒.ศีล มีความประพฤติดีงาม ๓.พาหุสัจจะ ได้สดับหรือศึกษามาก ๔.วิริยารัมภะ เพียรทำกิจอยู่อย่างจริงจัง ๕.ปัญญา รู้รอบและรู้ชัดเจนในสิ่งที่ควรรู้
  50. เวสารัชชญาณ : พระปรีชาญาณอันทำให้พระพุทธเจ้าทรงมีความแกล้วกล้าไม่ครั่นคร้าม ด้วยไม่ทรงเห็นว่าจะมีใครท้วงพระองค์ได้โดยชอบธรรม ในฐานะทั้ง ๔ คือ ๑.ท่านปฏิญญาว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ ท่านยังไม่รู้แล้ว ๒.ท่านปฏิญญาว่าเป็นขีณาสพ อาสวะนี้ของท่านยังไม่สิ้นแล้ว ๓.ท่านกล่าวธรรมเหล่าใดว่าทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นไม่อาจทำอันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้จริง ๔.ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นไม่เป็นทางนำผู้ทำตามให้ถึงความสิ้นทุกข์ โดยชอบได้จริง
  51. 1-50 | 51-100 | 101-150 | 151-200 | 201-250 | 251-300 | 301-350 | 351-400 | 401-450 | 451-500 | 501-550 | 551-600 | 601-650 | 651-700 | 701-750 | 751-800 | 801-850 | 851-900 | 901-950 | 951-1000 | [1001-1050] | 1051-1100 | 1101-1150 | 1151-1200 | 1201-1250 | 1251-1300 | 1301-1350 | 1351-1400 | 1401-1450 | 1451-1500 | 1501-1550 | 1551-1600 | 1601-1619

(0.0689 sec)