จิตตะ : เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ, ความคิดฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอย (ข้อ ๓ ในอิทธิบาท ๔)
กิงกรณีเยสุ ทักขตา : ความเป็นผู้ขยันช่วยเอาใจใส่ในกิจธุระของเพื่อนภิกษุ สามเณร (นาถกรณธรรมข้อ ๕)
กุลทูสก : ผู้ประทุษร้ายตระกูล หมายถึง ภิกษุผู้ประจบคฤหัสถ์ เอาใจเขาต่างๆ ด้วยอาการผิดวินัย มุ่งเพื่อให้เขาชอบตนเป็นส่วนตัว เป็นเหตุให้เขาคลายศรัทธาในพระศาสนาและเสื่อมจากกุศลธรรม เช่นให้ของกำนัลเหมือนอย่างคฤหัสถ์เขาทำกัน ยอมตัวให้เขาใช้ เป็นต้น
ตจปัญจกกัมมัฏฐาน : กัมมัฏฐานมีหนังเป็นที่คำรบ ๕, กัมมัฏฐานอันบัณฑิตกำหนดด้วยอาการมีหนังเป็นที่ ๕ เป็นอารมณ์ คือ กัมมัฏฐานที่ท่านสอนให้พิจารณาส่วนของร่างกาย ๕ อย่าง คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยความเป็นของปฏิกูล หรือโดยความเป็นสภาวะอย่างหนึ่งๆ ตามที่มันเป็นของมัน ไม่เอาใจเข้าไปผูกพันแล้วคิดวาดภาพใฝ่ฝันตามอำนาจกิเลส พจนานุกรมเขียน ตจปัญจกกรรมฐาน เรียกอีกอย่างว่า มูลกัมมัฏฐาน (กัมมัฏฐานเบื้องต้น)
ทอดธุระ : ไม่เอาใจใส่, ไม่สนใจ, ไม่เอาธุระ
ธรรมปฏิสันถาร : การต้อนรับด้วยธรรม คือกล่าวธรรมให้ฟังหรือแนะนำในทางธรรม อย่างนี้เป็นธรรมปฏิสันถารโดยเอกเทศคือส่วนหนึ่งด้านหนึ่ง ธรรมปฏิสันถารที่บำเพ็ญอยู่อย่างบริบูรณ์ คือการต้อนรับโดยธรรม ได้แก่ เอาใจใส่ช่วยเหลือสงเคราะห์ แก่ไขปัญหาบรรเทาข้อสงสัย ขจัดปัดเป่าข้อติดขัดยากลำบากเดือนร้อนทั้งหลาย ให้เขาลุล่วงกิจอันเป็นกุศล พ้นความอึดอัดขัดข้อง เทียบ อามิสปฏิสันถาร
นาถกรณธรรม : ธรรมทำที่พึ่ง, ธรรมสร้างที่พึ่ง, คุณธรรมที่ทำให้ตนได้ มี ๑๐ อย่าง คือ ๑.ศีล มีความประพฤติดี ๒.พาหุสัจจะ ได้เล่าเรียนสดับฟังมาก ๓.กัลยาณมิตตตา มีมิตรดีงาม ๔.โสวจัสสตา เป็นคนว่าง่าย ฟังเหตุผล ๕.กิงกรณีเยสุ ทักขตา เอาใจใส่กิจธุระของเพื่อนร่วมหมู่คณะ ๖.ธัมมกามตา เป็นผู้ใคร่ธรรม ๗.วิริยะ ความขยันหมั่นเพียร ๘.สันตุฏฐี มีความสันโดษ ๙.สติ มีสติ ๑๐.ปัญญา มีปัญญาเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
ภาระ : “สิ่งที่ต้องนำพา”, ธุระหนัก, การงานที่หนัก, หน้าที่ที่ต้องรับเอา, เรื่องที่พึงรับผิดชอบ, เรื่องหนักที่จะต้องเอาใจใส่หรือจัดทำ
โลกาธิปไตย : ความถือโลกเป็นใหญ่ คือ ถือความนิยมหรือเสียงกล่าวว่า ของชาวโลกเป็นสำคัญ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทาและสรรเสริญ จะทำอะไรก็มุ่งจะเอาใจหมู่ชน หาความนิยม ทำตามที่เขานิยมกัน หรือคอยแต่หวั่นกลัวเสียงกล่าวว่า, พึงใช้แต่ในทางดีหรือในขอบเขตที่เป็นความดี คือ เคารพเสียงหมู่ชน (ข้อ ๒ ในอธิปไตย ๓)
สำเหนียก : กำหนด, จดจำ, คอยเอาใจใส่, ฟัง, ใส่ใจคิดที่จะนำไปปฏิบัติ, ใส่ในสังเกตพิจารณาจับเอกสาระเพื่อจะนำไปปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ (คำพระว่า สิกขา หรือ ศึกษา)
อาทร : ความเอื้อเฟื้อ, ความเอาใจใส่
อิทธิบาท : คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ, คุณเครื่องสำเร็จประสงค์, ทางแห่งความสำเร็จมี ๔ คือ ๑) ฉันทะ ความพอใจรักใคร่สิ่งนั้น ๒) วิริยะ ความพยายามทำสิ่งนั้น ๓) จิตตะ ความเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ๔) วิมังสา ความพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น; จำง่ายๆ ว่า มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน
อุปัชฌายวัตร : ธรรมเนียมหรือข้อปฏิบัติที่สัทธิวิหาริกพึงกระทำต่ออุปัชฌาย์ของตน, หน้าที่ต่ออุปัชฌาย์ โดยย่อคือ เอาใจใส่ปรนนิบัติรับใช้ คอยศึกษาเล่าเรียนจากท่าน ขวนขวายป้องกันหรือระงับความเสื่อมเสีย เช่น ความคิดจะสึก ความเห็นผิด เป็นต้น รักษาน้ำใจของท่าน มีความเคารพ จะไปไหนบอกลา ไม่เที่ยวตามอำเภอใจ และเอาใจใส่พยาบาลเมื่อท่านอาพาธ เทียบ สัทธิวิหาริกวัตร