กูฏทันตสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์ทีฆนิกายสีลขันธวรรค สุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่กูฏทันตพราหมณ์ ผู้กำลังเตรียมพิธีบูชายัญ ว่าด้วยวิธีบูชายัญตามความหมายในแบบของพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ต้องมีการฆ่าฟันเบียดเบียนสัตว์ มีแต่การเสียสละทำทาน และการทำความดีอื่นๆ เริ่มด้วยการตระเตรียมพิธีโดยจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยก่อนตามธรรมวิธี มีการส่งเสริมกสิกรรม พาณิชยกรรม สัมมาชีพ และบำรุงส่งเสริมข้าราชการที่ดี ซึ่งจะทำให้ประชาชนขวนขวาย ขะมักเขม้นในหน้าที่การงานของตนๆ จนบ้านเมืองมีความเกษมปลอดภัย พลเมืองมีความสุข ราชทรัพย์บริบูรณ์ดีแล้ว จึงกระทำพิธีบูชายัญ ด้วยการบริจาคทรัพย์ทำทานเป็นต้น ผลของพระธรรมเทศนานี้ คือ กูฏทันตพราหมณ์ล้มเลิกพิธีบูชายัญของตน ปล่อยสัตว์ทั้งหลาย และประกาศตนเป็นอุบาสก
ปฏิโลม : ทวนลำดับ, ย้อนจากปลายมาหาต้น เช่นว่า ตจปัญจกกัมมัฏฐาน จากคำท้ายมาหาคำต้นว่า ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา (ตรงข้ามกับอนุโลม ตามลำดับว่า เกสา โลมา......), สาวเรื่องทวนจากผลเข้าไปหาเหตุ เช่น วิญญาณเป็นผล มีเพราะสังขาร เป็นเหตุ, สังขารเป็นผล มีเพราะอวิชชาเป็นเหตุ เป็นต้น
อนุโลม : เป็นไปตาม, คล้อยตาม, ตามลำดับ เช่น ว่าตจปัญจกรรมฐานไปตามลำดับอย่างนี้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ (ตรงข้ามกับปฏิโลม คือ ทวนลำดับว่า ตโจ ทันตา นขา โมลา เกสา) ; สาวออกไปตามลำดับจากเหตุไปหาผลข้างหน้า เช่น อวิชชาเป็นเหตุสังขารเป็นผล, สังขารเป็นเหตุ วิญญาณเป็นผล เป็นต้น; จัดเข้าได้, นับได้ว่าเป็นอย่างนั้น เช่น อนุโลมนุสา
ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม : กรรมอันให้ผลในปัจจุบัน, กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ซึ่งให้ผลทันตาเห็น (ข้อ ๑ ใน กรรม ๑๒)