Dictionary : English, Thai, Pali. Link : Lexitron, RoyDict, BudDict, ETipitaka, PpmDict, Longdo.
Search: . .

Budhism Thai-Thai Dict : ., 340 found, display 51-100
  1. กาลิก : เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ ๑.ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ ๒.ยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวันใหม่ ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต ๓.สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน ได้แก่เภสัชทั้ง ๕ ๔.ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ได้แก่ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น (ความจริงยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน)
  2. กุศลกรรมบถ : ทางแห่งกรรมดี, ทางทำดี, ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล, กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่สุคติมี ๑๐ อย่าง คือก.กายกรรม ๓ ได้แก่ ๑.ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำลายชีวิต ๒.อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาของที่เข้ามิได้ให้ ๓.กาเมสุมิจฉาจาร เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกามข.วจีกรรม ๔ ได้แก่ ๔.มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ ๕.ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด ๖.ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ ๗.สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อค.มโนกรรม ๓ ได้แก่ ๘.อนภิชฌา ไม่โลภคอยจ้องอยากได้ของเขา ๙.อพยาบาท ไม่คิดร้ายเบียดเบียนเขา ๑๐.สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม
  3. กุศลมูล : รากเหง้าของกุศล, ต้นเหตุของกุศล, ต้นเหตุของความดีมี ๓ อย่าง คือ ๑.อโลภะ ไม่โลภ (จาคะ) ๒.อโทสะ ไม่คิดประทุษร้าย (เมตตา) ๓.อโมหะ ไม่หลง (ปัญญา)
  4. กุศลวิตก : ความตริตรึกที่เป็นกุศล, ความนึกคิดที่ดีงามมี ๓ คือ ๑.เนกขัมมวิตก ความตรึกปลอดจากกาม ๒.อพยาบาทวิตก ความตรึกปลอดจากพยาบาท ๓.อวิหิงสาวิตก ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน
  5. โกศล : ความฉลาด, ความเชี่ยวชาญ มี ๓ คือ ๑.อายโกศล ความฉลาดในความเจริญ, รอบรู้ทางเจริญและเหตุของความเจริญ ๒.อปายโกศล ความฉลาดในความเสื่อม, รอบรู้ทางเสื่อมและเหตุของความเสื่อม ๓.อุปายโกศล ความฉลาดในอุบาย, รอบรู้วิธีแก้ไขเหตุการณ์และวิธีที่จะทำให้สำเร็จ ทั้งในการป้องกันความเสื่อมและในการสร้างความเจริญ
  6. โกสัลละ : ความฉลาด, ความเชี่ยวชาญ มี ๓ คือ ๑.อายโกศล ความฉลาดในความเจริญ, รอบรู้ทางเจริญและเหตุของความเจริญ ๒.อปายโกศล ความฉลาดในความเสื่อม, รอบรู้ทางเสื่อมและเหตุของความเสื่อม ๓.อุปายโกศล ความฉลาดในอุบาย, รอบรู้วิธีแก้ไขเหตุการณ์และวิธีที่จะทำให้สำเร็จ ทั้งในการป้องกันความเสื่อมและในการสร้างความเจริญ
  7. ของสังฆกรรม : มี ๔ คือ ๑.วัตถุวิบัติ เสียโดยวัตถุ เช่น อุปสมบทคนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ๒.สีมาวิบัติ เสียโดยสีมา เช่น สีมาไม่มีนิมิต ๓.ปริสวิบัติ เสียโดยบริษัทคือที่ประชุม เช่น ภิกษุเข้าประชุมไม่ครบองค์สงฆ์ ๔.กรรมวาจาวิบัติ เสียโดยกรรมวาจา เช่น สวดผิดพลาดตกหล่น สวดแต่อนุสาวนาไม่ได้ตั้งญัตติ เป็นต้น (ข้อกรรมวาจาวิบัติบางกรณีแยกเป็นญัตติวิบัติและอนุสาวนาวิบัติ กลายเป็นวิบัติ ๕ ก็มี) เทียบ สมบัติ
  8. เขต : 1.แดนที่กันไว้เป็นกำหนด เช่น นา ไร่ ที่ดิน แคว้น เป็นต้น 2.ข้อที่ภิกษุระบุถึงเพื่อลาสิกขา เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น
  9. คณะธรรมยุต : คณะสงฆ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นภิกษุในรัชกาลที่ ๓; เรียกว่า ธรรมยุตติกา หรือ ธรรมยุติกนิกาย ก็มี; สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความหมายว่า พระสงฆ์ออกจากมหานิกายนั้นเอง แต่ได้รับอุปสมบทในรามัญนิกายด้วย (การคณะสงฆ์ น.๑๐)
  10. คณะมหานิกาย : คณะสงฆ์ไทยเดิมทีสืบมาแต่สมัยสุโขทัย, เป็นชื่อที่ใช้เรียกในเมื่อได้เกิดมีคณะธรรมยุตขึ้นแล้ว; สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความหมายว่า พระสงฆ์อันมีเป็นพื้นเมือง (ของประเทศไทย-ผู้เขียน) ก่อนเกิด ธรรมยุติกนิกาย (การคณะสงฆ์ น.๙๐)
  11. คติ : 1.การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง 2.ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี ๕ คือ ๑.นิรยะ นรก ๒.ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน ๓.เปตติวิสัย แดนเปรต ๔.มนุษย์ สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล ๕.เทพ ชาวสวรรค์ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงอกนิฏฐพรหม (ท่านว่าในที่นี้ จัดอสูรเข้าในเปตตวิสัยด้วย) ๓ คติแรกเป็น ทุคติ (ที่ไปเกิดอันชั่วหรือแบบดำเนินชีวิตที่ไม่ดี) ๒ คติหลังเป็นสุคติ (ที่ไปเกิดอันดี หรือแบบดำเนินชีวิตที่ดี)
  12. ครุธรรม : ธรรมอันหนัก, หลักความประพฤติสำหรับนางภิกษุณีจะพึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันต้องปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ละเมิดตลอดชีวิต มี ๘ ประการ คือ ๑.ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้ว ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว ๒.ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้ ๓.ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน ๔.ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจหมายถึง ระแวงสงสัยหรือประพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง) ๕.ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) ๑๕ วัน ๖.ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา ๗.ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ ๘.ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุแต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้
  13. คันถะ : 1.กิเลสที่ร้อยรัดมัดใจสัตว์ให้ติดอยู่ 2.ตำรา, คัมภีร์
  14. คันธกุฎี : กุฎีอบกลิ่นหอม, ชื่อเรียกพระกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า เช่น พระคันธกุฎีที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายที่พระเชตวัน ในนครสาวัตถี เป็นต้น พระกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ ก็เรียกว่าคันธกุฎีเช่นเดียวกัน (เช่น ขุ.อป.๓๒/๑๘/๘๕; ๑๗๒/๒๗๒; ๓๓/๑๓๑/๒๒๐) อย่างไรก็ตาม คำเรียกที่ประทับของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันว่าคันธกุฎีนั้น มีใช้แต่ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา (ไม่มีในพระไตรปิฎก)
  15. คาถา : 1.คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง ในภาษาบาลี คาถาหนึ่งๆ มี ๔ บาท
  16. คารวะ : ความเคารพ, ความเอื้อเฟือ, ความใส่ใจมองเห็นความสำคัญที่จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ให้ถูกต้องเหมาะสม มี ๖ อย่างคือ ๑.พุทฺธคารวตา ความเคารพในพระพุทธเจ้า ๒.ธมฺมคารวตา ความเคารพในพระธรรม ๓.สงฺฆคารวตา ความเคารพในพระสงฆ์ ๔.สิกฺขาคารวตา ความเคารพในการศึกษา ๕.อปฺปมาทคารวตา ความเคารพในความไม่ประมาท ๖.ปฏิสนฺถารคารวตา ความเคารพในปฏิสันถาร คือ การต้อนรับปราศรัย
  17. คุณของพระรัตนตรัย : คุณของรัตนะ ๓ คือ ๑.พระพุทธเจ้า รู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้วทรงสอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย ๒.พระธรรม เป็นหลักแห่งความจริงและความดีงาม ย่อมรักษาผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ๓.พระสงฆ์ ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สอนผู้อื่นให้กระทำตามด้วย
  18. ฆราวาสธรรม : หลักธรรมสำหรับการครองเรือน, ธรรมของผู้ครองเรือน มี ๔ อย่างคือ ๑.สัจจะ ความจริง เช่น ซื่อสัตย์ต่อกัน ๒.ทมะ ความฝึกฝน ปรับปรุงตน เช่น รู้จักข่มใจ ควบคุมอารมณ์ บังคับตนเองปรับตัวเข้ากับการงานและสิ่งแวดล้อมให้ได้ดี ๓.ขันติ ความอดทน ๔.จาคะ ความเสียสละ เผื่อแผ่ แบ่งปัน มีน้ำใจ
  19. จริต : ความประพฤติ, พื้นนิสัย หรือพื้นเพแห่งจิตของคนทั้งหลายที่หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง แตกต่างกันไปคือ ๑.ราคจริต ผู้มีจาคะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางรักสวยรักงาม มักติดใจ) ๒.โทสจริต ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางใจร้อนขี้หงุดหงิด) ๓.โมหจริต ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางเหงาซึม งมงาย) ๔.สัทธาจริต ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางน้อมใจเชื่อ) ๕.พุทธิจริต ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดพิจารณา) ๖.วิตกจริต ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดจับจดฟุ้งซ่าน)
  20. จักกวัตติสูตร : ชื่อสูตรที่ ๓ แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้พึ่งตน คือพึ่งธรรม ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจะทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินอยู่ในแดนของตนเองที่สืบมาแต่บิดา จะมีแต่ความดีงามเจริญขึ้นไม่เปิดช่องให้แก่มาร เช่นเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงประพฤติตามหลักจักรวรรดิวัตร อันสืบกันมาแต่บรรพชนของพระองค์ ย่อมทำให้จักรรัตนะบังเกิดขึ้นมาเอง, จักรวรรดิวัตร นั้นมี ๔ ข้อใหญ่ ใจความว่า ๑.พระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมาธิปไตย และจัดการคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรม แก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ตลอดไปถึงสัตว์ที่ควรสงวนพันธุ์ทั้งหลาย ๒.มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในแผ่นดิน ๓.ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ผู้ไร้ทรัพย์ ๔.ปรึกษาสอบถามการดีชั่ว ข้อควรและไม่ควรประพฤติ กะสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ อยู่เสมอ; จักรวรรดิวัตร ๔ ข้อนี้ บางทีจัดเป็น ๕ โดยแยกข้อ ๑.เป็น ๒ ข้อ คือ เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่อย่างหนึ่ง กับจัดการคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม อย่างหนึ่ง, นอกจากนั้น สมัยต่อมา อรรถกถาจัดแบ่งซอยออกไป และเพิ่มเข้ามาอีก รวมเป็น ๑๒ ข้อ เรียกว่า จักรวรรดิวัตร ๑๒ ; พระสูตรนี้ถือว่าเป็นคำสอนแสดงหลักวิวัฒนาการของสังคมตามแนวจริยธรรม กล่าวถึงหลักการปกครอง และหลักความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับจริยธรรม; เรื่องพระศรีอารยเมตไตรย ก็มีต้นเค้ามาจากพระสูตรนี้
  21. จักร : ล้อ, ล้อรถ, ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมายมี ๔ อย่างคือ ๑.ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในถิ่นที่เหมาะ ๒.สัปปุริสูปัสสยะ สมาคมกับคนดี ๓.อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ ๔.ปุพเพกตปุญญตา ได้ทำความดีไว้ก่อน
  22. จักรวรรดิวัตร ๑๒ : .อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ คุ้มครองสงเคราะห์แก่ชนในพระราชฐานและพยุหเสนา ๒.ขตฺติเยสุ แก่กษัตริย์เมืองขึ้นหรือผู้ครองนครภายใต้พระบรมเดชานุภาพ ๓.อนุยนฺเตสุ แก่กษัตริย์ที่ตามเสด็จคือ เหล่าเชื้อพระวงศ์ผู้เป็นราชบริพาร ๔.พฺราหฺมณคหปติเกสุ แก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ๕.เนคมชานปเทสุ แก่ชาวนิคมและชาวชนบทคือ ราษฎรพื้นเมืองทั้งเหล่าย ๖.สมณพฺราหฺมเณสุ แก่เหล่าสมณพราหมณ์ ๗.มิคปกฺขีสุ แก่เหล่าเนื้อนกอันพึงบำรุงไว้ให้มีสืบพันธุ์ ๘.อธมฺมการปฏิกฺเขโป ห้ามปรามมิให้มีความประพฤติการอันไม่เป็นธรรม ๙.อธนานํ ธนานุปฺปทานํ เจือจานทรัพย์ทำนุบำรุงแก่ผู้ขัดสนไร้ทรัพย์ ๑๐.สมณพฺราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ ไปสู่หาพราหมณ์ไต่ถามอรรถปฤษณา ๑๑.อธมฺมราคสฺส ปหานํ เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม ๑๒.วิสมโลภสฺส ปหานํ เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร
  23. จาตุมหาราช : ท้าวมหาราช ๔, เทวดาผู้รักษาโลกใน ๔ ทิศ, ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ คือ ๑.ท้าวธตรฐ จอมภูต หรือจอมคนธรรพ์ ครองทิศตะวันออก ๒.ท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ ครองทิศใต้ ๓.ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค ครองทิศตะวันตก ๔.ท้าวกุเวร หรือ เวสสวัณ จอมยักษ์ ครองทิศเหนือ
  24. จาตุรงคสันนิบาต : การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ คือ ๑.วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (เพ็ญเดือน ๓) ๒.พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปมาประชุมกัน โดยมิได้นัดหมาย ๓.พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ ๔.พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุ ดู มาฆบูชา
  25. จำพรรษา : อยู่ประจำวัด ๓ เดือนในฤดูฝน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (อย่างนี้เรียกปุริมพรรษา แปลว่า พรรษาต้น) หรือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ (อย่างนี้เรียก ปัจฉิมพรรษา แปลว่า พรรษาหลัง); วันเข้าพรรษาต้น คือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๘ เรียกว่า ปุริมิกา วัสสูปนายิกา, วันเข้าพรรษาหลัง คือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ เรียกว่า ปัจฉิมิกา วัสสูปนายิกา ; คำอธิษฐานพรรษา ว่า อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ ; ทุติยมฺปี อิมสฺมึ....; ตติยมฺปิ อิมสฺมึ....แปลว่า ข้าพเจ้าเข้าอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนในวัดนี้ (วิหาเร จะเปลี่ยนเป็น อาวาเส ก็ได้) ; อานิสงส์การจำพรรษามี ๕ อย่าง คือ ๑.เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา ๒.จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ ๓.ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้ ๔.เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา ๕.จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ อานิสงส์ทั้ง ๕ นี้ได้ชั่วเวลาเดือนหนึ่ง นับแต่ออกพรรษาแล้ว คือ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ นอกจากนั้นยังได้สิทธิที่จะกรานกฐิน และได้รับอานิสงส์ ๕ นั้น ต่อออกไปอีก ๔ เดือน (ภิกษุผู้เข้าพรรษาแล้วหลัง ไม่ได้อานิสงส์หรือสิทธิพิเศษเหล่านี้)
  26. จิตตสังขาร : 1.ปัจจัยปรุงแต่งจิตได้แก่ สัญญาและเวทนา 2.สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่เจตนาที่ก่อให้เกิดมโนกรรม ดู สังขาร
  27. จุลวรรค : ชื่อคัมภีร์อันเป็นหมวดหนึ่งแห่งพระวินัยปิฎก ซึ่งมีทั้งหมด ๕ หมวด คือ อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค บริวาร ; คัมภีร์จุลวรรค มี ๑๒ ขันธกะ คือ ๑.กัมมขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคคหกรรม ๒.ปาริวาสิกขันธกะ ว่าด้วยวัตรของภิกษุผู้อยู่ปริวาส ผู้ประพฤติมานัต และผู้เตรียมจะอัพภาน ๓.สมุจจยขันธกะ ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติต่างๆ ในการประพฤติวุฏฐานวิธี ๔.สมถขันธกะ ว่าด้วยการระงับอธิกรณ์ ๕.ขุททกวัตถุขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อยจำนวนมาก เช่น การปลงผม ตัดเล็บ ไม้จิ้มฟัน ของใช้ต่างๆ เป็นต้น ๖.เสนาสนขันธกะ ว่าด้วยสังฆเภทและสังฆสามัคคี ๘.วัตตขันธกะ ว่าด้วยวัตรต่างๆ เช่น อาคันตุกวัตร เป็นตน ๙.ปาติโมกขัฏฐปนขันธกะ ว่าด้วยระเบียบในการงดสวดปาฏิโมกข์ในเมื่อภิกษุมีอาบัติติดตัวมาร่วมฟังอยู่ ๑๐.ภิกขุนีขันธกะ ว่าด้วยเรื่องภิกษุณีเริ่มแต่ประวัติการอนุญาตให้มีการบวชครั้งแรก ๑๑.ปัญจสติกขันธกะ ว่าด้วยเรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ ๑๒.สัตตสติกขันธกะ ว่าด้วยสังคายนาครั้งที่ ๒ (พระไตรปิฎกเล่ม ๖-๗); ต่อจาก มหาวรรค
  28. จุลศักราช : ศักราชน้อย ตั้งขึ้นโดยกษัตริย์พม่าองค์หนึ่งใน พ..๑๑๘๒ ภายหลังมหาศักราช, เป็นศักราชที่เราใช้กันมาก่อนใช้รัตนโกสินทรศก, นับรอบปีตั้งแต่ ๑๖ เมษายน ถึง ๑๕ เมษายน เขียนย่อว่า จ..(พ..๒๕๒๒ ตรงกับ จ..๑๓๔๐-๑๓๔๑)
  29. เจดีย์ : ที่เคารพนับถือ บุคคล สถานที่ หรือวัตถุที่ควรเคารพบูชา, เจดีย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามี ๔ อย่างคือ ๑.ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๒.บริโภคเจดีย์ คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย ๓.ธรรมเจดีย์ บรรลุพระธรรม คือ พุทธพจน์ ๔.อุทเทสิกเจดีย์ คือพระพุทธรูป; ในทางศิลปกรรมไทยหมายถึงสิ่งที่เคารพนับถือเช่นพระธาตุและอัฐิบรรพบุรุษ เป็นต้น
  30. เจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ : ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือแต่งตั้งจากสงฆ์ให้ทำหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับการของส่วนรวมในวัดตามพระวินัยแบ่งไว้เป็น ๕ ประเภทคือ ๑.เจ้าอธิการแห่งจีวร ๒.เจ้าอธิการแห่งอาหาร ๓.เจ้าอธิการแห่งเสนาสนะ ๔.เจ้าอธิการแห่งอาราม ๕.เจ้าอธิการแห่งคลัง
  31. ฉกามาพจรสวรรค์ : สวรรค์ที่ยังเกี่ยวข้องกาม ๖ ชั้น คือ ๑.จาตุมหาราชิกา ๒.ดาวดึงส์ ๓.ยามา ๔.ดุสิต ๕.นิมมานรดี ๖.ปรนิมมิตวสวัตดี
  32. ฉลอง : 1.แทน, ตอบแทน 2.ทำบุญสมโภชหรือบูชา
  33. ฉันทะ : 1.ความพอใจ, ความชอบใจ, ความยินดี, ความต้องการ, ความรักใคร่สิ่งนั้นๆ, ความรักงาน (เป็นกลางๆ เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลก็มี, เป็นอัญญสมานาเจตสิกข้อ ๑๓, ที่เป็นอกุศล เช่นในกามฉันทะ ที่เป็นกุศลเช่น ข้อ ๑ ในอิทธิบาท ๔) 2.ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้นๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย, เป็นธรรมเนียมของภิกษุ ที่อยู่ในวัดซึ่งมีสีมารวมกัน มีสิทธิที่จะเข้าประชุมทำกิจของสงฆ์ เว้นแต่ภิกษุนั้นอาพาธจะเข้าร่วมประชุมด้วยไม่ได้ ก็มอบฉันทะคือแสดงความยินยอมให้สงฆ์ทำกิจนั้นๆ ได้
  34. ฉัพพรรณรังสี : รัศมี ๖ ประการ ซึ่งเปล่งออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า คือ ๑.นีล เขียวเหมือนดอกอัญชัน ๒.ปีต เหลืองเหมือนหรดาลทอง ๓.โลหิต แดงเหมือนตะวันอ่อน ๔.โอทาต ขาวเหมือนแผ่นเงิน ๕.มัญเชฐ สีหงสบาท เหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่ ๖.ประภัสสร เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก
  35. ฉายา : 1.เงา, อาการที่เป็นเงาๆ คือ ไม่ชัดออกไป, อาการเคลือบแฝง 2.ชื่อที่พระอุปัชฌายะตั้งให้แก่ผู้ขอบวชเป็นภาษาบาลี เรียกว่าชื่อฉายา ที่เรียกเช่นนี้เพราะเดิมเมื่อเสร็จการบวชแล้ว ต้องมีการวัดฉายาคือเงาแดดด้วยการสืบเท้าว่าเงาหดหรือเงาขยายแค่ไหน ชั่วกี่สืบเท้า การวัดเงาด้วยเท้านั้นเป็นมาตรานับเวลา เรียกว่า บาท เมื่อวัดแล้วจดเวลาไว้และจดสิ่งอื่นๆ เช่นชื่อพระอุปัชฌายะ พระกรรมวาจาจารย์ จำนวนสงฆ์ และชื่อผู้อุปสมบท ทั้งภาษาไทยและมคธ ลงในนั้นด้วย ชื่อใหม่ที่จดลงตอนวัดฉายานั้น จึงเรียกว่าชื่อฉายา
  36. ชีวิตินทรีย์ : อินทรีย์คือชีวิต, สภาวะที่เป็นใหญ่ในการตามรักษาสหชาตธรรม (ธรรมที่เกิดร่วมด้วย) ดุจน้ำหล่อเลี้ยงดอกบัว เป็นต้น มี ๒ ฝ่ายคือ ๑.ชีวิตินทรีย์ที่เป็นชีวิตรูป เป็นอุปาทาย รูปอย่างหนึ่ง (ข้อที่ ๑๓) เป็นเจ้าการในการรักษาหล่อเลี้ยงเหล่ากรรมชรูป (รูปที่เกิดแต่กรรม) บางทีเรียก รูป ชีวิตินทรีย์ ๒.ชีวิตินทรีย์ที่เป็นเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก (เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง) อย่างหนึ่ง (ข้อที่ ๖) เป็นเจ้าการในการรักษาหล่อเลี้ยงนามธรรมคือจิตและเจตสิกทั้งหลาย บางทีเรียก อรูปชีวิตินทรีย์ หรือ นามชีวิตินทรีย์
  37. ฌาน : การเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่ เป็นอัปปนาสมาธิ, ภาวะจิตสงบประณีต ซึ่งมีสมาธิเป็นองค์ธรรมหลัก; ฌาน ๔ คือ ๑.ปฐมฌาน มีองค์ ๕ (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) ๒.ทุติยฌาน มีองค์ ๓ (ปีติ สุข เอกัคคตา) ๓.ตติยฌาน มีองค์ ๒ (สุข เอกัคคตา) ๔.จตุตถฌาน มีองค์ ๒ (อุเบกขา เอกัคคตา); ฌาน ๕ ก็เหมือนอย่าง ฌาน ๔ นั่นเอง แต่ตามแบบอภิธรรม ท่านซอยละเอียดออกไป โดยเพิ่มข้อ ๒ แทรกเข้ามา คือ ๑.ปฐมฌาน มีองค์ ๕ (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) ๒.ทุติยฌาน มีองค์ ๔ (วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) ข้อ ๓...ตรงกับ ข้อ ๒...ในฌาน ๔ ตามลำดับ
  38. ญาณ : ความรู้, ปรีชาหยั่งรู้, ปรีชากำหนดรู้; ญาณ ๓ หมวดหนึ่ง ได้แก่ ๑.อตีตังสญาณ ญาณในส่วนอดีต ๒.อนาคตังสญาณ ญาณในส่วนอนาคต ๓.ปัจจุปปันนังสญาณ ญาณในส่วนปัจจุบัน; อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่ ๑.สัจจญาณ หยั่งรู้อริยสัจแต่ละอย่าง ๒.กิจจญาณ หยั่งรู้กิจในอริยสัจ ๓.กตญาณ หยั่งรู้กิจอันได้ทำแล้วในอริยสัจ; อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่ วิชชา ๓
  39. ญาณ ๑๖ : ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาโดยลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมาย คือมรรคผลนิพพาน ๑๖ อย่างคือ ๑.นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป ๒.(นามรูป) ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป ๓.สัมมสนญาณ ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์ ๔.- ๑๒.(ตรงกับวิปัสสนาญาณ ๙) ๑๓.โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตรคือหัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน ๑๔.มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค ๑๕.พลญาณ ญาณในอริยผล ๑๖.ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่พิจารณาทบทวน; ญาณ ๑๖ นี้เรียกเลียนคำบาลีว่า โสฬสญาณ หรือ เรียกกึ่งไทยว่า ญาณโสฬส; ดู วิปัสสนาญาณ
  40. ฎีกา : 1.ปกรณ์ที่พระอาจารย์ทั้งหลาย ในภายหลัง แต่งแก้หรืออธิบายเพิ่มเติมอรรถกถา 2.หนังสือนิมนต์พระสงฆ์ 3.ใบบอกบุญเรี่ยไร
  41. ตถาคต : พระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกหรือตรัสถึงพระองค์เอง แปลได้ความหมาย ๘ อย่าง คือ ๑.พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือ เสด็จมาทรงบำเพ็ญพุทธจริยา เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก เป็นต้น เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น ๒.พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น คือทรงทำลายอวิชชาสละปวงกิเลสเสด็จไปเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น ๓.พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ คือ ทรงมีพระญาณหยั่งรู้เข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายหรือของธรรมทุกอย่าง๔.พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น คือ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ หรือปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมที่จริงแท้แน่นอน ๕.พระผู้ทรงเห็นอย่างนี้ คือ ทรงรู้เท่าทันสรรพอารมณ์ที่ปรากฏแก่หมู่สัตว์ทั้งเทพและมนุษย์ ซึ่งสัตวโลกตลอดถึงเทพถึงพรหมได้ประสบและพากันแสวงหา ทรงเข้าใจสภาพที่แท้จริง ๖.พระผู้ตรัสอย่างนั้น (หรือมีพระวาจาที่แท้จริง) คือ พระดำรัสทั้งปวงนับแต่ตรัสรู้จนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ล้วนเป็นสิ่งแท้จริงถูกต้อง ไม่เป็นอย่างอื่น ๗.พระผู้ทำอย่างนั้น คือ ตรัสอย่างใดทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น ๘.พระผู้เป็นเจ้า (อภิภู) คือ ทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือกว่าสรรพสัตว์ตลอดถึงพระพรหมที่สูงสุด เป็นผู้เห็นถ่องแท้ ทรงอำนาจ เป็นราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นเทพแห่งเทพ เป็นอินทร์เหนือพระอินทร์ เป็นพรหมเหนือประดาพรหม ไม่มีใครจะอาจวัดหรือจะทดเทียมพระองค์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ
  42. ตบะ : 1.ความเพียรเครื่องเผาผลาญกิเลส, การบำเพ็ญเพียรเพื่อกำจัดกิเลส 2.พิธีข่มกิเลสโดยการทรมานตัวของนักบวชบางพวกในสมัยพุทธกาล
  43. ตระกูลอันมั่งคั่ง : จะตั้งอยู่นานไม่ได้ เพราะเหตุ ๔ คือ ๑.ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว ๒.ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า ๓.ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ ๔.ตั้งสตรีหรือบุรุษทุศีล ให้เป็นแม่บ้านพ่อเรือน
  44. ตัณหา : ความทะยานอยาก, ความดิ้นรน, ความปรารถนา, ความเสน่หา มี ๓ คือ ๑.กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม อยากได้อารมณ์อันน่ารักใคร่ ๒.ภวตัณหา ความทะยากอยากในภพ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ๓.วิภวตัณหา ความทะยานอยากในวิภพ อยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ อยากพรากพ้นดับสูญไปเสีย
  45. ติตถกร : เจ้าลัทธิ หมายถึงคณาจารย์ ๖ คน คือ ๑.ปูรณกัสสป ๒.มักขลิโคสาล ๓.อชิตเกสกัมพล ๔.ปกุทธกัจจายนะ ๕.สัญชัยเวลัฏฐบุตร ๖.นิครนถนาฏบุตร มักเรียกว่า ครูทั้ง ๖
  46. ไตรจีวร : จีวร ๓, ผ้า ๓ ผืนที่พระวินัยอนุญาตให้ภิกษุมีไว้ใช้ประจำตัว คือ ๑.สังฆาฏิ ผ้าทาบ ๒.อุตราสงค์ ผ้าห่ม เรียกสามัญในภาษาไทยว่าจีวร ๓.อันตรวาสก ผ้านุ่ง เรียกสามัญว่า สบง
  47. ไตรเพท : พระเวท ๓ อย่าง ซึ่งเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ ๑.ฤคเวท ประมวลบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า ๒.ยชุรเวท ประกอบด้วยบทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่างๆ ๓.สามเวท ประมวลบทเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ ต่อมาเพิ่มอถรรพเวท หรือ อาถรรพณเวท อันว่าด้วยคาถาอาคมทรงไสยศาสตร์เข้ามาอีกเป็น ๔
  48. ไตรวัฏ : วัฏฏะ ๓, วงวน ๓ หรือวงจร ๓ ส่วนของปฏิจจสมุปบาท หมุนเวียนสืบทอดต่อๆ กันไป ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด หรือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก (เรียกเต็มว่า ๑.กิเลสวัฏ ประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ๒.กรรมวัฏ ประกอบด้วย สังขาร ภพ ๓.วิปากวัฏ ประกอบด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส) คือ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบากคือผลของกรรมนั้น อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสแล้วทำกรรมหมุนเวียนต่อไปอีก เช่น เกิดกิเลสอยากได้ของเขา จึงทำกรรมด้วยการไปลักของเขามา ประสบวิบากคือได้ของนั้นมาเสพเสวยเกิดสุข เวทนา ทำให้มีกิเลสเหิมใจอยากได้รุนแรงและมากยิ่งขึ้นจึงยิ่งทำกรรมมากขึ้น หรือในทางตรงข้ามถูกขัดขวาง ได้รับทุกขเวทนาเป็นวิบาก ทำให้เกิดกิเลส คือโทสะแค้นเคือง แล้วพยายามทำกรรมคือประทุษร้ายเขา เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ วงจรจะหมุนเวียนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
  49. ไตรวัฏฏ์ : วัฏฏะ ๓, วงวน ๓ หรือวงจร ๓ ส่วนของปฏิจจสมุปบาท หมุนเวียนสืบทอดต่อๆ กันไป ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด หรือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก (เรียกเต็มว่า ๑.กิเลสวัฏ ประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ๒.กรรมวัฏ ประกอบด้วย สังขาร ภพ ๓.วิปากวัฏ ประกอบด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส) คือ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบากคือผลของกรรมนั้น อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสแล้วทำกรรมหมุนเวียนต่อไปอีก เช่น เกิดกิเลสอยากได้ของเขา จึงทำกรรมด้วยการไปลักของเขามา ประสบวิบากคือได้ของนั้นมาเสพเสวยเกิดสุข เวทนา ทำให้มีกิเลสเหิมใจอยากได้รุนแรงและมากยิ่งขึ้นจึงยิ่งทำกรรมมากขึ้น หรือในทางตรงข้ามถูกขัดขวาง ได้รับทุกขเวทนาเป็นวิบาก ทำให้เกิดกิเลส คือโทสะแค้นเคือง แล้วพยายามทำกรรมคือประทุษร้ายเขา เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ วงจรจะหมุนเวียนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
  50. ถูปารหบุคคล : บุคคลผู้ควรแก่สถูป คือ บุคคลที่ควรนำกระดูกบรรจุสถูปไว้บูชา มี ๔ คือ ๑.พระพุทธเจ้า ๒.พระปัจเจกพุทธเจ้า ๓.พระอรหันตสาวก ๔.พระเจ้าจักรพรรดิ
  51. 1-50 | [51-100] | 101-150 | 151-200 | 201-250 | 251-300 | 301-340

(0.0268 sec)