Dictionary : English, Thai, Pali. Link : Lexitron, RoyDict, BudDict, ETipitaka, PpmDict, Longdo.
Search: ความสนใจ, สนใจ, ความ .

Budhism Thai-Thai Dict : ความสนใจ, 1080 found, display 651-700
  1. มหากัจจายนะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในกัจจายนโคตรที่พระนครอุชเชนี เป็นบุตรปุโรหิตของพระราชาแห่งแคว้นอวันตี เรียนจบไตรเพทแล้ว ต่อมาได้เป็นปุโรหิตแทนบิดา พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสสั่งให้หาทางนำพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่กรุงอุชเชนี กัจจายนปุโรหิตจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วบรรลุอรหัตตผล อุปสมบทแล้ว แสดงความประสงค์ที่จะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าสู่แคว้นอวันตี พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้ท่านเดินทางไปเอง ท่านเดินทางไปยังกรุงอุชเชนี ประกาศธรรม ยังพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวเมืองทั้งหมดให้เลื่อมใสในพระศาสนาแล้ว จึงกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา ต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขยายความคำย่อให้พิสดาร มีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดว่าท่านมีรูปร่างสวยงาม ผิวพรรณดังทองคำ บุตรเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อโสเรยยะเห็นแล้วเกิดมีอกุศลจิตต่อท่านว่าให้ได้อย่างท่านเป็นภรรยาตนหรือให้ภรรยาตนมีผิวพรรณงามอย่างท่าน เพราะอกุศลจิตนั้น เพศของโสเรยยะกลายเป็นหญิงไป นางสาวโสเรยยะแต่งงานมีครอบครัว มีบุตรแล้ว ต่อมาได้พบและขอขมาต่อท่านเพศก็กลับเป็นชายตามเดิม โสเรยยะขอบวชในสำนักของท่าน และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
  2. มหากัสสปะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดที่หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อมหาติตถะในแคว้นมคธ เป็นบุตรของกปิลพราหมณ์ มีชื่อเดิมว่าปิปผลิมาณพ เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้สมรสกับนางภัททกาปิลานี ตามความประสงค์ของมารดาบิดาแต่ไม่มีความยินดีในชีวิตครองเรือน ต่อมาทั้งสามีภรรยาได้สละเรือน นุ่งห่มผ้ากาสาวะออกบวชกันเอง เดินทางออกจากบ้านแล้วแยกกันที่ทาง ๒ แพร่ง ปิปผลิมาณพได้พบพระพุทธเจ้าที่พหุปุตตกนิโครธระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา ได้อุปสมบทด้วยโอวาท ๓ ข้อ และได้ถวายผ้าสังฆาฏิของตนแลกกับจีวรเก่าของพระพุทธเจ้า แล้วสมาทานธุดงค์ ครั้นบวชล่วงไปแล้ว ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัต เป็นผู้มีปฏิปทามักน้อย สันโดษ ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ในทางถือธุดงค์ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานในปฐมสังคายนา ท่านดำรงชีวิตสืบมาจนอายุ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพาน
  3. มหาโกฏฐิตะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ในเมืองสาวัตถี บิดาเป็นมหาพราหมณ์ชื่ออัสสลายนะ มารดาชื่อจันทวดี ท่านเรียนจบไตรเพท ได้ฟังเทศนาของพระศาสดามีความเลื่อมใส บวชแล้ว เจริญวิปัสสนา ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔
  4. มหาโกลาหล : เสียงกึกก้องเอิกเกริกอย่างมาก, เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความแตกตื่นอย่างมาก
  5. มหาปรันตปะ : นามหนึ่งที่บางท่านถือมาว่าอยู่ในรายชื่ออสีติมหาสาวก แต่ไม่ปรากฏว่ามีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร บางทีจะเกิดจากความสับสนกับพระนามพระราชบิดาของพระเจ้าอุเทน (ที่ถูก คือ ปุณณ สุนาปรันตะ)
  6. มหาปุริสวิตก : ธรรมที่พระมหาบุรุษตรึก, ความนึกคิดของพระโพธิสัตว์
  7. มหาภารตะ : ชื่อบทประพันธ์มหากาพย์ เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งของอินเดีย แสดงเรื่องสงคราม ระหว่างกษัตริย์เผ่าปาณฑพกับกษัตริย์เผ่าโกรพ เพื่อแย่งความเป็นใหญ่ ในหัสตินาปุระ นครหลวงของกษัตริย์จันทรวงศ์ เผ่าโกรพ
  8. มหาวงส์ : ชื่อหนังสือพงศาวดารลังกา เรื่องใหญ่ แต่งขึ้นในสมัยอรรถกถาพรรณนาความเป็นมาของพระพุทธศาสนาและชาติลังกา ตั้งแต่เริ่มตั้งวงศ์กษัตริย์สิงหล ในตอนพุทธปรินิพพาน จนถึงประมาณ พ.ศ.๙๐๔ ประวัติต่อจากนั้นมีคัมภีร์ชื่อ จูฬวงส์ พรรณนาต่อไป
  9. มหาสัตว์ : “สัตว์ผู้มีคุณความดีอันยิ่งใหญ่” หมายถึงพระโพธิสัตว์
  10. มหาอุทายี : พระเถระผู้ใหญ่องค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ในเมืองกบิลพัสดุ์ เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเมื่อคราวที่พระองค์เสด็จไปโปรดพระญาติ จึงออกบวชและได้สำเร็จอรหัตตผล ท่านเป็นพระธรรมกถึกองค์หนึ่ง มีเรื่องเกี่ยวกับการที่ท่านแสดงธรรมบ้าง สนทนาธรรมบ้าง ปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่ง คราวหนึ่งพระอานนท์เห็นท่านนั่งแสดงธรรมอยู่ มีคฤหัสถ์ล้อมฟังอยู่เป็นชุมนุมใหญ่ จึงได้กราบทูลเล่าถวายพระพุทธเจ้า เป็นข้อปรารภให้พระองค์ทรงแสดง ธรรมเทศกธรรม หรือหรือองค์คุณของธรรมกถึก ๕ ประการ คือ ๑.แสดงธรรมไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ ๒.อ้างเหตุผลให้ผู้ฟังเข้าใจ ๓.มีจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ๔.ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ ๕.ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น
  11. มักขะ : ลบหลู่คุณท่าน, หลู่ความดีของผู้อื่น (ข้อ ๕ ในอุปกิเลส ๑๖)
  12. มักใหญ่ : อยากเป็นใหญ่เป็นโต เกินคุณธรรมและความสามารถของตน
  13. มัคคญาณ : ญาณในอริยมรรค, ปัญญาสูงสุดที่กำจัดกิเลสเป็นเหตุให้บรรลุความเป็นพระอริยบุคคลชั้นหนึ่งๆ, ดู ญาณ
  14. มัจฉะ : ชื่อแคว้นหนึ่งใน ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาล อยู่ทิศใต้ของแคว้นสุรเสนะ นครหลวงชื่อ วิราฏ (บางแห่งว่าสาคละ แต่ความจริงสาคละเป็นเมืองหลวงของแคว้นมัททะ)
  15. มัชฌิมชนมบท : ประเทศที่ตั้งอยู่ในท่ามกลาง, ถิ่นกลางเป็นอาณาเขตที่กำหนดว่า มีความเจริญรุ่งเรือง มีประชาชนหนาแน่น มีเศรษฐกิจดี เป็นศูนย์กลางแห่งการค้าขาย เป็นที่อยู่แห่งนักปราชญ์ผู้มีวิชาความรู้ เป็นที่รวมของการศึกษา เป็นต้น กำหนดเขต ทิศบูรพา ภายในนับแต่มหาศาลนครเข้ามา อาคเนย์ นักแต่แม่น้ำสัลลวดีเข้ามา ทักษิณ นับแต่เสตกัณณิกนิคมเข้ามา ปัจจิม นับแต่ถูกคามเข้ามา อุดร นับแต่ภูเขาอุสีรธชะเข้ามา นอกจากนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท หรือ ปัจจันตประเทศ
  16. มัชฌิมประเทศ : ประเทศที่ตั้งอยู่ในท่ามกลาง, ถิ่นกลางเป็นอาณาเขตที่กำหนดว่า มีความเจริญรุ่งเรือง มีประชาชนหนาแน่น มีเศรษฐกิจดี เป็นศูนย์กลางแห่งการค้าขาย เป็นที่อยู่แห่งนักปราชญ์ผู้มีวิชาความรู้ เป็นที่รวมของการศึกษา เป็นต้น กำหนดเขต ทิศบูรพา ภายในนับแต่มหาศาลนครเข้ามา อาคเนย์ นักแต่แม่น้ำสัลลวดีเข้ามา ทักษิณ นับแต่เสตกัณณิกนิคมเข้ามา ปัจจิม นับแต่ถูกคามเข้ามา อุดร นับแต่ภูเขาอุสีรธชะเข้ามา นอกจากนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท หรือ ปัจจันตประเทศ
  17. มัชฌิมภูมิ : ขั้น ชั้น หรือระดับพระมัชฌิมะ คือพระปูนกลาง, ระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ ที่นับว่าเป็นพระปูนกลาง (ระหว่างพระนวกะ กับพระเถระ) คือมีพรรษาเกิน ๕ แต่ยังไม่ครบ ๑๐ และมีความรู้พอรักษาตัวเป็นต้น
  18. มัชฌิมาปฏิปทา : ทางสายกลาง, ข้อปฏิบัติเป็นกลางๆ ไม่หย่อนจนเกินไป และไม่ตึงจนเกินไป ไม่ข้องแวะที่สุด ๒ อย่างคือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค, ทางแห่งปัญญา (เริ่มด้วยปัญญา, ดำเนินด้วยปัญญา นำไปสู่ปัญญา) อันพอดีที่จะให้ถึงจุดหมาย คือ ความดับกิเลสและความทุกข์ หรือความหลุดพ้นเป็นอิสระสิ้นเชิง ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุด
  19. มาตาปิตุอุปัฏฐาน : การบำรุงมารดาบิดาให้มีความสุข (ข้อ ๓ ในสัปปุริสบัญญัติ ๓, ข้อ ๑๑ ในมงคล ๓๘)
  20. มาติกา : 1.หัวข้อ เช่น หัวข้อแห่งการเดาะกฐิน 2.แม่บท เช่นตัวสิกขาบท เรียกว่าเป็นมาติกา เพราะจะต้องขยายความต่อไป
  21. มายา : เจ้าหญิงแห่งเทวทหนคร เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าอัญชนะ เป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นพระราชชนนี ของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระพุทธมารดา เจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๗ วัน พระนางก็สวรรคต, คำว่า “มายา” ในที่นี้ มิได้หมายความว่า มารยา ที่แปลว่า เล่ห์เหลี่ยม หรือล่อลวง แต่หมายถึงความงามที่ทำให้ผู้ประสบงวยงงหลงใหล, นิยมเรียกว่า พระนางสิริมหามายา
  22. มาร : 1.สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี มี ๕ คือ ๑.กิเลสมาร มารคือกิเลส ๒.ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ ๓.อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขารที่ปรุงแต่งกรรม ๔.เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร ๕.มัจจุมาร มารคือความตาย 2.พระยามารที่มีเรื่องราวปรากฏบ่อยๆ ในคัมภีร์ คอยมาแทรกแซงเหตุการณ์ต่างๆ ในพุทธประวัติ เช่น ยกพลเสนามาผจญพระมหาบุรุษในวันที่จะตรัสรู้ พระองค์ชนะพระยามารได้ด้วยทรงนึกถึงบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา มารในกรณีเช่นนี้ บางทีท่านอธิบายออกชื่อว่าเป็นสวัตดีมาร ซึ่งครองแดนหนึ่งในสวรรค์ชั้นสูงสุด แห่งระดับกามาวจรคือปรนิมิตวสวัตดี เป็นผู้คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้มิให้ล่วงพ้นจากแดนกามซึ่งอยู่ในอำนาจครอบงำของตน อย่างไรก็ดี ผู้ศึกษาพึงพิจารณาเทียบจากมาร ๕ ในความหมายที่ 1.ด้วย
  23. มิจฉาญาณ : รู้ผิด เช่น ความรู้ในการคิดอุบายทำความชั่วให้สำเร็จ
  24. มิจฉาทิฏฐิ : เห็นผิด, ความเห็นที่ผิดจากคลองธรรม เช่นเห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี มารดาบิดาไม่มี เป็นต้น และความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ (พจนานุกรมเขียน มิจฉาทิฏฐิ)
  25. มิตร : เพื่อน, ผู้มีความเยื่อใยดี, ผู้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ แยกเป็นมิตรแท้ ๔ พวก มิตรเทียม (มิตตปฏิรูป) ๔ พวก
  26. มิตรแท้ : มิตรด้วยใจจริง มี ๔ พวก ได้แก่ ๑.มิตรอุปการะ มีลักษณะ ๔ คือ ๑.เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน ๒.เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์ของเพื่อน ๓.เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้ ๔.มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก ๒.มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ ๔ คือ ๑.บอกความลับแก่เพื่อน ๒.ปิดความลับของเพื่อน ๓.มีภัยอันตรายไม่ละทิ้ง ๔.แม้ชีวิตก็สละให้ได้ ๓.มิตรแนะประโยชน์ มีลักษณะ ๔ คือ ๑.จะทำชั่วเสียหายคอยห้ามปรามไว้ ๒.คอยแนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี ๓.ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง ๔.บอกทางสุขทางสวรรค์ให้ ๔.มิตรมีน้ำใจ มีลักษณะ ๔ คือ ๑.เพื่อนมีทุกข์ พลอยทุกข์ด้วย ๒.เพื่อนมีสุข พลอยดีใจ ๓.เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ให้ ๔.เขาสรรเสริญเพื่อ ช่วยพูดเสริมสนับสนุน
  27. มุญจิตุกัมยตาญาณ : ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย, ความหยั่งรู้ที่ทำให้ต้องการจะพ้นไปเสีย คือ ต้องการจะพ้นไปเสียจากสังขารที่เบื่อหน่ายแล้ว ด้วยนิพพิทานุปัสสนาญาณ (ข้อ ๖ ในวิปัสสนาญาณ ๙)
  28. มูลเฉท : ตัดรากเหง้า, หมายถึงอาบัติปาราชิก ซึ่งผู้ต้องขาดจากความเป็นภิกษุและภิกษุณี
  29. เมตตากรุณา : เมตตา และกรุณา ความรักความปรารถนาดีและความสงสาร ความอยากช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ (ข้อแรกในเบญจธรรม)
  30. เมถุนสังโยค : อาการพัวพันเมถุน, ความประพฤติที่ยังเกี่ยวเนื่องกับเมถุน มี ๗ ข้อ โดยใจความคือ สมณะบางเหล่าไม่เสพเมถุน แต่ยังยินดีในเมถุนสังโยค คือ ชอบการลูบไล้และการนวดของหญิง, ชอบซิกซี้ เล่นหัวสัพยอกกับหญิง, ชอบจ้องดูตากับหญิง, ชอบฟังเสียงหัวเราะขับร้องของหญิง, ชอบนึกถึงการเก่าที่เคยหัวเราะพูดเล่นกับหญิง, เห็นชาวบ้านเขาบำรุงบำเรอกันด้วยกามคุณแล้วปลื้มใจ, หรือแม้แต่ประพฤติพรหมจรรย์ โดยตั้งความปรารถนาที่จะเป็นเทพเจ้า
  31. เมธี : นักปราชญ์, คนมีความรู้
  32. โมกข์ : 1.ความหลุดพ้นจากกิเลส คือ นิพพาน 2.ประธาน, หัวหน้า, ประมุข
  33. โมกขธรรม : ธรรมนำสัตว์ให้หลุดพ้นจากกิเลส, ความหลุดพ้น, นิพพาน
  34. โมหันธ์ : มืดมนด้วยความหลง, มืดมนเพราะความหลง
  35. โมโห : โกรธ, ขุ่นเคือง; ตามรูปศัพท์เป็นคำภาษาบาลี ควรแปลว่า ความหลง แต่ที่ใช้กันมาในภาษาไทย ความหมายเพี้ยนไปเป็นอย่างข้างต้น
  36. ไมตรี : “คุณชาติ (ความดีงาม) ที่มีในมิตร”, ความเป็นเพื่อน, ความรัก, ความหวังดีต่อกัน, ความเยื่อใยต่อกัน, มิตรธรรม, เมตตา
  37. ไม่มีสังวาส : ไม่มีธรรมเป็นเหตุอยู่ร่วมกับภิกษุทั้งหลาย, ขาดสิทธิอันชอบธรรม ที่จะถือเอาประโยชน์แห่งความเป็นภิกษุ, ขาดจากความเป็นภิกษุ, อยู่ร่วมกับสงฆ์ไม่ได้
  38. ยมกะ : ชื่อภิกษุรูปหนึ่งที่มีความเห็นว่าพระขีณาสพตายแล้วสูญ ซึ่งเป็นความเห็นที่ผิด ภายหลังได้พบกับพระสารีบุตร พระสารีบุตรได้เปลื้องท่านจากความเห็นผิดนั้นได้
  39. ยส : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสีมีความเป็นอยู่อย่างสุขสมบูรณ์ วันหนึ่งเห็นสภาพในห้องนอนของตน เป็นเหมือนป่าช้า เกิดความสลดใจคิดเบื่อหน่าย จึงออกจากบ้านไปพบพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาอนุปุพพีกถา และอริยสัจโปรด ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม ต่อมาได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่เศรษฐีบิดาของตน ก็ได้บรรลุอรหัตตผลแล้วขออุปสมบท เป็นภิกษุสาวกองค์ที่ ๖ ของพระพุทธเจ้า
  40. ยสะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสีมีความเป็นอยู่อย่างสุขสมบูรณ์ วันหนึ่งเห็นสภาพในห้องนอนของตน เป็นเหมือนป่าช้า เกิดความสลดใจคิดเบื่อหน่าย จึงออกจากบ้านไปพบพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาอนุปุพพีกถา และอริยสัจโปรด ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม ต่อมาได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่เศรษฐีบิดาของตน ก็ได้บรรลุอรหัตตผลแล้วขออุปสมบท เป็นภิกษุสาวกองค์ที่ ๖ ของพระพุทธเจ้า
  41. ยโสชะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรหัวหน้าชาวประมง ใกล้ประตูเมืองสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนากปิลสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเลื่อมใสขอบวช ต่อมาไปเจริญสมณธรรมที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ได้สำเร็จพระอรหัต
  42. ยักยอก : เอาทรัพย์ของผู้อื่นที่อยู่ในความรักษาของตนไปโดยทุจริต
  43. ยักษ์ : มีความหมายหลายอย่าง แต่ที่ใช้บ่อยหมายถึงอมนุษย์พวกหนึ่งเป็นบริวารของท้าวกุเวร หรือเวสสวัณ, ตามที่ถือกันมาว่ามีรูปร่างใหญ่โตน่ากลัวมีเขี้ยวงอกโง้ง ชอบกินมนุษย์กินสัตว์ โดยมากมีฤทธิ์เหาะได้ จำแลงตัวได้
  44. เยภยยสิกา : กิริยาเป็นไปตามข้างมาก ได้แก่ วิธีตัดสินอารมณ์โดยถือเอาตามคำของคนข้างมาก เช่น วิธีจับสลากเพื่อชี้ข้อผิดถูก ข้างไหนมีภิกษุผู้ร่วมพิจารณาลงความเห็นมากกว่า ก็ถือเอาพวกข้างนั้น เป็นวิธีอย่างเดียวกับการโหวตคะแนนเสียง, ใช้สำหรับระงับวิวาทาธิกรณ์ ดู อธิกรณสมถะ
  45. โยคเกษม : “ธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ” ความหมายสามัญว่าความปลอดโปร่งโล่งในหรือสุขกายสบายใจ เพราะปราศจากภัยอันตรายหรือล่วงพ้นสิ่งที่น่าพรั่นกลัว มาถึงสถานที่ปลอดภัย; ในความหมายขั้นสูงสุด มุ่งเอาพระนิพพาน อันเป็นธรรมที่เกษมคือโปร่งโล่งปลอดภัยจากโยคกิเลสทั้ง ๔ จำพวก ดู โยคะ, เกษมจากโยคธรรม
  46. โยคเกษมธรรม : ธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ความหมายสามัญว่าความปลอดโปร่งโล่งในหรือสุขกายสบายใจ เพราะปราศจากภัยอันตรายหรือล่วงพ้นสิ่งที่น่าพรั่นกลัว มาถึงสถานที่ปลอดภัย; ในความหมายขั้นสูงสุด มุ่งเอาพระนิพพาน อันเป็นธรรมที่เกษมคือโปร่งโล่งปลอดภัยจากโยคกิเลสทั้ง ๔ จำพวก ดู โยคะ, เกษมจากโยคธรรม
  47. โยคธรรม : ธรรมคือกิเลสเครื่องประกอบในข้อความว่า “เกษมจากโยคธรรม” คือความพ้นภัยจากกิเลส ดู โยคะ
  48. โยคะ : 1.กิเลสเครื่องประกอบ คือประกอบสัตว์ไว้ในภพ หรือผูกสัตว์ดุจเทียมไว้กับแอก มี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา 2.ความเพียร
  49. โยคาวจร : ผู้หยั่งลงสู่ความเพียร, ผู้ประกอบความเพียร, ผู้เจริญภาวนา คือ กำลังปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เขียน โยคาพจร ก็มี
  50. โยคี : ฤษี, ผู้ปฏิบัติตามลัทธิโยคะ, ผู้ประกอบความเพียร ดู โยคาวจร
  51. 1-50 | 51-100 | 101-150 | 151-200 | 201-250 | 251-300 | 301-350 | 351-400 | 401-450 | 451-500 | 501-550 | 551-600 | 601-650 | [651-700] | 701-750 | 751-800 | 801-850 | 851-900 | 901-950 | 951-1000 | 1001-1050 | 1051-1080

(0.0596 sec)