Dictionary : English, Thai, Pali. Link : Lexitron, RoyDict, BudDict, ETipitaka, PpmDict, Longdo.
Search: ตะ , then , ตะ, ตา .

Budhism Thai-Thai Dict : ตะ, 427 found, display 351-400
  1. สหชาต : “ผู้เกิดร่วมด้วย” หมายถึง บุคคล (ตลอดจนสัตว์และสิ่งของ) ที่เกิดร่วมวันเดือนปีเดียวกัน อย่างเพลา หมายถึง ผู้เกิดร่วมปีกัน; ตำนานกล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูตินั้น มีสหชาต ๗ คือ พระมารดาของเจ้าชายราหุล (เจ้าหญิงยโสธราหรือพิมพา) พระอานนท์ นายฉันนะ อำมาตย์กาฬุทายี ม้ากัณฐกะ ต้นมหาโพธิ์ และขุมทรัพย์ทั้ง ๔ (นิธิกุมภี)
  2. สหชาติ : ผู้เกิดร่วมด้วย หมายถึง บุคคล (ตลอดจนสัตว์และสิ่งของ) ที่เกิดร่วมวันเดือนปีเดียวกัน อย่างเพลา หมายถึง ผู้เกิดร่วมปีกัน; ตำนานกล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูตินั้น มีสหชาต ๗ คือ พระมารดาของเจ้าชายราหุล (เจ้าหญิงยโสธราหรือพิมพา) พระอานนท์ นายฉันนะ อำมาตย์กาฬุทายี ม้ากัณฐกะ ต้นมหาโพธิ์ และขุมทรัพย์ทั้ง ๔ (นิธิกุมภี)
  3. สหธรรมิก : ผู้มีธรรมร่วมกัน, ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน แสดงไว้ในคัมภีร์มหานิทเทส แห่งพระสุตตันตปิฏก มี ๗ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา; ในสัตตาหกรณียะ สหธรรมิก ๕ (คัมภีร์ฝ่ายวินัยทั่วไปก็มักหมายเฉพาะจำนวน ๕)
  4. สังคหวัตถุ : เรื่องสงเคราะห์กัน, คุณเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจของผู้อื่นไว้ได้, หลักการสงเคราะห์ คือ ช่วยเหลือกันยึดเหนี่ยวใจกันไว้ และเป็นเครื่องเกาะกุมประสานโลกคือสังคมแห่งหมู่สัตว์ไว้ ดุจสลักเกาะยึดรถที่กำลังแล่นไปให้คงเป็นรถและวิ่งแล่นไปได้ มี ๔ อย่าง คือ ๑.ทาน การแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ๒.ปิยวาจา พูดจาน่ารักน่านิยมนับถือ ๓.อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์ ๔.สมานัตตตา ความมีตนเสมอ คือทำตัวให้เข้ากันได้ เช่น ไม่ถือตัว ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน เป็นต้น
  5. สังฆคุณ : คุณของพระสงฆ์ (หมายถึงสาวกสงฆ์ หรือ อริยสงฆ์) มี ๙ คือ ๑.สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดี ๒.อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง ๓.ายปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง ๔.สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร (ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺ ปุริสปุคฺคลา ได้แก่ คู่บุรุษ ๔ ตัวบุคคล ๘ เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้) ๕.อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ คือควรรับของที่เขานำมาถวาย ๖.ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา คือควรแก่ของทำบุญ ๘.อญฺชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี คือควรแก่การกราบไหว้ ๙.อนุตฺตรํ ปุญฺกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือเป็นแหล่งเพาะปลูกและเผยแพร่ความดีที่ยอดเยี่ยมของโลก
  6. สังฆทาน : ทานเพื่อสงฆ์, การถวายแก่สงฆ์ คือถวายเป็นกลาง ๆ ไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เช่น จะทำพิธีถวายของที่มีจำนวนจำกัดพึงแจ้งแก่ทางวัดให้จัดพระไปรับตามจำนวนที่ต้องการ หัวหน้าสงฆ์จัดภิกษุใดไปพึงทำใจว่า ท่านมารับในนามของสงฆ์ หรือ เป็นผู้แทนของสงฆ์ทั้งหมด ไม่พึงเพ่งเล็งว่าเป็นบุคคลใด คิดตั้งใจแต่ว่าจะถวายอุทิศแก่สงฆ์; ในพิธีพึงจุดธูปเทียนบูชาพระ อาราธนาศีล รับศีล จบแล้วตั้งนโม ๓ จบ กล่าวคำถวายเสร็จแล้วประเคนของ และเมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา พึงกรวดน้ำ รับพร เป็นเสร็จพิธี; คำถวายสังฆทานว่าดังนี้ : อิมานิ มยํ ภนฺเต, ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมานิ, ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย, แปลว่า : ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ ฯ
  7. สัตตบรรณคูหา : ชื่อถ้ำที่ภูเขาเวภารบรรพต ในกรุงราชคฤห์ เป็นที่พระพุทธเจ้าเคยทรงทำนิมิตตโอภาสแก่พระอานนท์ และเป็นที่ทำ สังคายนา ครั้งแรก; เขียน สัตตปัณณิคูหา หรือ สัตตบัณณคูหา ก็มี
  8. สัตตัมพเจดีย์ : เจดีย์สถานแห่งหนึ่งที่ นครเวสาลี แคว้นวัชชี ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตตโอภาสแก่พระอานนท์
  9. สัตตุผง สัตตุก้อน : ข้าวตู เสบียงเดินทางที่ ๒ พ่อค้า คือ ตปุสสะ กับภัลลิกะ ถวายแด่พระพุทธเจ้า ขณะที่ประทับอยู่ใต้ต้นราชายตนะ
  10. สัทธัมมปกาสินี : ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในปฏิสัมภิทามรรค แห่งพระสุตตันตปิฎก พระมหานามรจนาในเกาะลังกา ประมาณ พ.ศ.๑๐๖๐
  11. สัทธา : ความเชื่อ; ในทางธรรม หมายถึง เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ, ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล, ความมั่นใจในความจริงความดีสิ่งดีงามและในการทำความดีไม่ลู่ไหลตื่นตูมไปตามลักษณะอาการภายนอก ท่านแสดงสืบ ๆ กันมาว่า ๔ อย่างคือ ๑.กัมมสัทธา เชื่อกรรม ๒.วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม ๓.กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ๔.ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต; เขียนอย่างสันสกฤตเป็นศรัทธา
  12. สัทธาวิมุต : “ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา”, พระอริยบุคคล ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จนถึงผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรคที่มีสัทธินทรีย์แรงกล้า (ถ้าบรรลุอรหัตตผลกลายเป็น ปัญญาวิมุต) ดู อริยบุคคล
  13. สันทัสสนา : การให้เห็นชัดแจ้ง หรือชี้ให้ชัด คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัดเจน มองเห็นเรื่องราวและเหตุผลต่าง ๆ แจ่มแจ้งเหมือนจูงมือไปดูเห็นประจักษ์กับตา; เป็นลักษณะอย่างแรกของการสอนที่ดีตามแนวพุทธจริยา (ข้อต่อไป คือสมาทปนา)
  14. สัปปิโสณฑิกา : ชื่อเงื้อมเขาแห่งหนึ่งอยู่ที่สีตวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตตโอภาสแก่พระอานนท์
  15. สัปปุริสธรรม : ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมของคนดี, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ มี ๗ อย่างคือ ๑.ธัมมัญญุตา รู้หลักหรือรู้จักเหตุ ๒.อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายหรือรู้จักผล ๓.อัตตัญญุตา รู้จักตน ๔.มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ ๕.กาลัญญุตา รู้จักกาล ๖.ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน ๗.ปุคคลัญญุตา รู้จักบุคคล; อีกหมวดหนึ่งมี ๘ อย่างคือ ๑.ประกอบด้วย สัทธรรม ๗ ประการ ๒.ภักดีสัตบุรษ (คบหาผู้มีสัทธรรม ๗) ๓.คิดอย่างสัตบุรุษ ๔.ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ ๕.พูดอย่างสัตบุรุษ ๖.ทำอย่างสัตบุรุษ (๓-๔-๕-๖ คือ คิดปรึกษา พูด ทำ มิใช่เพื่อเบียดเบียนตน และผู้อื่น) ๗.มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ (คือเห็นชอบว่า ทำดีมีผลดี ทำชั่วมีผลชั่วเป็นต้น) ๘.ให้ทานอย่างสัตบุรุษ (คือให้โดยเคารพ เอื้อเฟื้อ แก่ของและผู้รับทาน เป็นต้น)
  16. สัมผัส : ความกระทบ, การถูกต้องที่ให้เกิดความรู้สึก, ความประจวบกันแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ มี ๖ เริ่มแต่ จักขุสัมผัส สัมผัสทางตา เป็นต้น จนถึง มโนสัมผัส สัมผัสทางใจ (เรียงตามอายตนะภายใน ๖); ผัสสะ ก็เรียก
  17. สัมมาทิฏฐิสูตร : พระสูตรแสดงความหมายต่าง ๆ แห่งสัมมาทิฏฐิ เป็นภาษิตของพระสารีบุตร (สูตรที่ ๙ ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฏก)
  18. สัมมาวิมุตติ : พ้นชอบ ได้แก่ อรหัตตผลวิมุตติ (ข้อ ๑๐ ในสัมมัตตะ ๑๐)
  19. สัมมุขาวินัย : ระเบียบอันพึงทำในที่พร้อมหน้า, วิธีระงับต่อหน้า ได้แก่การระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้าสงฆ์ (สังฆสัมมุขตา คือภิกษุเข้าประชุมครบองค์สงฆ์), ในที่พร้อมหน้าบุคคล ( ปุคคลสัมมุขตา คือ บุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นอยู่พร้อมหน้ากัน), ในที่พร้อมหน้าวัตถุ ( วัตถุสัมมุขตา คือยกเรื่องที่เกิดนั้นขึ้นวินิจฉัย), ในที่พร้อมหน้าธรรมวินัย ( ธัมมสัมมุขตา และ วินยสัมมุขตา คือนำเอาหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพระธรรมวินัยมาใช้ปฏิบัติ ได้แก่วินิจฉันถูกธรรม ถูกวินัย); สัมมุขาวินัย ใช้เป็นเครื่องระงับอธิกรณ์ได้ทุกอย่าง
  20. สามัญญผลสูตร : สูตรที่ ๒ ในคัมภีร์ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระสุตตันตปิฏก ว่าด้วยผลของความเป็นสมณะคือประโยชน์ที่จะได้จากการดำรงเพศเป็นสมณะ หรือบำเพ็ญสมณธรรม
  21. สามัญญลักษณะ : ลักษณะที่เสมอกันแก่สังขารทั้งปวง ได้แก่ ๑.อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง ๒.ทุกขตา ความเป็นทุกข์หรือความเป็นของคงทนอยู่มิได้ ๓.อนัตตตา ความเป็นของไม่ใช่ตัวตนแสดงความตามบาลีดังนี้ ๑.สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ๒.สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ๓.สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงมิใช่ตัวตน; ลักษณะเหล่านี้มี ๓ อย่าง จึงเรียกว่า ไตรลักษณ์, ลักษณะเหล่านี้เป็นของแน่นอน เป็นกฎธรรมดา จึงเรียกว่า ธรรมนิยาม
  22. สารัตถทีปนี : ชื่อคัมภีร์ฎีกาอธิบายความในสมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาแห่งพระวินัยปิฎก พระสารีบุตรเถระแห่งเกาะลังกา เป็นผู้รจนาในรัชกาลของพระเจ้าปรักกมพาหุที่ ๑ (พ.ศ.๑๖๙๖-๑๗๒๙)
  23. สารัตถปกาสินี : ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในสังยุตตนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์รจนาในเกาะลังกา เมื่อ พ.ศ.ใกล้จะถึง ๑๐๐๐
  24. สารันทเจดีย์ : เจดียสถานแห่งหนึ่งที่เมืองเวสาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตตโอภาสแก่พระอานนท์ บาลีเป็น สารันททเจดีย์
  25. สาราณียธรรม : ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ทำให้มีความเคารพกัน ช่วยเหลือกัน และสามัคคีพร้อมเพรียงกันมี ๖ อย่างคือ ๑.ตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร ๒.ตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร ๓.ตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร ๔.แบ่งปันลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม ๕.รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกับเพื่อนภิกษุสามเณร (มีสีลสามัญญตา) ๖.มีความเห็นร่วมกันได้กับภิกษุสามเณรอื่น ๆ (มีทิฏฐิสามัญญตา); สารณียธรรม ก็เขียน
  26. สำรวม : ระมัดระวัง, เหนี่ยวรั้ง, ระวังรักษาให้สงบเรียบร้อย เช่น สำรวมตา, สำรวมกาย, ครอง เช่นสำรวมสติ คือครองสติ, ดู สังวร, รวมประสมปนกัน เช่น อาหารสำรวม
  27. สิกขมานา : นางผู้กำลังศึกษา, สามเณรีผู้มีอายุถึง ๑๘ ปีแล้ว อีก ๒ ปีจะครบบวชเป็นภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์สวดให้สิกขาสมมติ คือ ตกลงให้สมาทานสิกขาบท ๖ ประการ ตั้งแต่ปาณาติปาตา เวรมณี จนถึง วิกาลโภชนา เวรมณี ให้รักษาอย่างเคร่งครัดไม่ขาดเลย ตลอดเวลา ๒ ปีเต็ม (ถ้าล่วงข้อใดข้อหนึ่ง ต้องสมาทานตั้งแต่ต้นไปใหม่อีก ๒ ปี) ครบ ๒ ปี ภิกษุณีสงฆ์จึงทำพิธีอุปสมบทให้ ขณะที่สมาทานสิกขาบท ๖ ประการอย่างเคร่งครัดนี้ เรียกว่า นางสิกขมานา
  28. สิกขานุตตริยะ : การศึกษาอันเยี่ยม ได้แก การฝึกอบรมในอธิศีล อธิจิตต์ และอธิปัญญา (ข้อ ๔ ในอนุตตริยะ ๖)
  29. สิคาลมาตา : พระมหาสาวิกาองค์หนึ่งเป็นธิดาเศรษฐีในพระนครราชคฤห์เจริญวัยแล้ว แต่งงาน มีบุตรคนหนึ่งชื่อ สิงคาลกุมาร วันหนึ่งได้ฟังธรรมีกถาของพระศาสดา มีความเลื่อมใส (คัมภีร์อปทานว่า ได้ฟังสิงคาลกสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่บุตรของนาง ซึ่งว่าด้วยเรื่องอบายมุข มิตรแท้ มิตรเทียม ทิศ ๖ เป็น และได้บรรลุโสดาปัตติผล) ขอบวชเป็นภิกษุณีต่อมาได้ไปฟังธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดง นางคอยตั้งตาดูพระพุทธสิริสมบัติด้วยศรัทธาอันแรงกล้าพระพุทธองค์ทรงทราบกับอัธยาศัยของนาง นางส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางศรัทธาธิมุต, สิคาลกมาตา หรือ สิงคาลมาตา ก็เรียก
  30. สีลขันธ์ : กองศีล, หมวดธรรมว่าด้วยศีล เช่น กายสุจริต สัมมาอาชีวะ อินทรียสังวร โภชเนมัตตัญญุตา เป็นต้น (ข้อ ๑ ในธรรมขันธ์ ๕)
  31. สีลขันธวรรค : ตอนที่ ๑ ใน ๓ ตอนแห่งคัมภีร์ทีฆนิกาย พระสุตตันตปิฏก
  32. สุขาวดี : แดนที่มีความสุข, เป็นชื่อสวรรค์ของพระอมิตาภพุทธ ฝ่ายมหายาน
  33. สุตตนิบาต : ชื่อคัมภีร์ที่ ๕ แห่งขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฏก
  34. สุทโธทนะ : กษัตริย์ศากยวงศ์ซึ่งเป็นราชาผู้ครองแคว้นศากยะ หรือสักกชนบท ณ นครกบิลพัสดุ์ มีพระมเหสีพระนามว่าพระนางสิริมหามายา หรือเรียกสั้น ๆ ว่ามายา เมื่อพระนางมายาสวรรคตแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้เป็นพระมเหสีต่อมา พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระราชบุตรองค์ที่ ๑ ของพระเจ้าสีหหนุ เป็นพระราชบิดาของพระสิทธัตถะ เป็นพระอัยกาของพระราหุล และเป็นพระพุทธบิดา พระองค์สวรรคตในปีที่ ๕ แห่งพุทธกิจก่อนสวรรคต พระพุทธเจ้าไดเสด็จไปแสดงธรรมโปรดให้ได้ทรงบรรลุอรหัตตผล และได้เสวยวิมุตติสุข ๗ วันก่อนปรินิพพาน
  35. สุภัททะ : ปัจฉิมสิกขิสาวก (สาวกผู้ทันเห็นองค์สุดท้าย) ของพระพุทธเจ้า เรียกสั้นๆ ว่า ปัจฉิมสาวก เดิมเป็นพราหมณ์ตระกูลใหญ่ ต่อมาออกบวชเป็นปริพาชก อยู่ในเมืองกุสินารา ในวันที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน สุภัททปริพาชกได้ยินข่าวแล้วคิดว่าตนมีข้อสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง อยากจะขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อแก้ข้อสงสัยนั้นเสียก่อนที่จะปรินิพพาน จึงเดินทางไปยังสาลวัน ตรงไปหาพระอานนท์ แจ้งความประสงค์ขอเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระอานนท์ได้ห้ามไว้ เพราะเกรงว่าพระองค์เหน็ดเหนื่อยอยู่แล้ว จะเป็นการรบกวนให้ทรงลำบาก สุภัททปริพาชกก็คะยั้นคะยอจะขอเข้าเฝ้าให้ได้ พระอานนท์ก็ยืนกรานห้ามอยู่ถึง ๓ วาระ จนพระผู้มีพระภาคทรงได้ยินเสียงโต้ตอบกันนั้น จึงตรัสสั่งพระอานนท์ว่าสุภัททะมุ่งหาความรู้ มิใช่ประสงค์จะเบียดเบียนพระองค์ ขอให้ปล่อยให้เขาเข้าเฝ้าเถิด สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าแล้ว ทูลถามว่า สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย คือ เหล่าครูทั้ง ๖ นั้น ล้วนได้ตรัสรู้จริงทั้งหมดตามที่ตนปฏิญญา หรือได้ตรัสรู้เพียงบางท่านหรือไม่มีใครตรัสรู้จริงเลย พระพุทธเจ้าทรงห้ามเสียและตรัสว่าจะทรงแสดงธรรม คือ หลักการหรือหลักความจริงให้ฟัง แล้วตรัสว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ หาไม่ได้ในธรรมวินัยใด สมณะ (คืออริยบุคคลทั้ง ๔) ก็หาไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยใด สมณะก็หาได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยนี้ สมณะทั้ง ๔ จึงมีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะ และตรัสสรุปว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายเป็นอยู่โดยชอบ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อจบพระธรรมเทศนา สุภัททปริพาชกเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธเจ้าตรัสสั่งพระอานนท์ให้บวชสุภัททะในสำนักของพระองค์ โดยประทานพุทธานุญาตพิเศษให้ยกเว้นไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ท่านสุภัททะบวชแล้วไม่นาน (อรรถกถาว่าในวันนั้นเอง) ก็ได้บรรลุอรหัตตผล นับเป็นพุทธปัจฉิมสักขิสาวก
  36. สุมังคลวิลาสินี : ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในทีฆนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์เรียบเรียงขึ้น โดยอาศัยอรรถกถาภาษาสิงหฬ เมื่อ พ.ศ.ใกล้จะถึง ๑๐๐๐
  37. สูตร : พระธรรมเทศนาหรือธรรมกถาเรื่องหนึ่ง ๆ ในพระสุตตันตปิฎก แสดงเจือด้วยบุคคลาธิษฐาน, ถ้าพูดว่าพระสูตร มักหมายถึงพระสุตตันตปิฏกทั้งหมด
  38. เสขะ : ผู้ยังต้องศึกษา ได้แก่ พระอริยบุคคลที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล โดยพิสดารมี ๗ คือ ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ในโสดาปัตติผล ในสกทาคามิมรรค ในสกทาคามิผล ในอนาคามิมรรค ในอนาคามิผล และในอรหัตตมรรค, พูดเอาแต่ระดับเป็น ๓ คือ พระโสดาปัน พระสกทาคามี พระอนาคามี
  39. โสณทัณฑสูตร : สูตรที่ ๔ ในคัมภีร์ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระสุตตันตปิฎก ทรงแสดงแก่โสณทัณฑพราหมณ์
  40. องค์ฌาน : (บาลี ว่า ฌานงฺค) องค์ประกอบของฌาน, องค์ธรรมทั้งหลายที่ประกอบกันเข้าเป็นฌานขั้นหนึ่งๆ เช่น ปีติ สุข เอกัคคตา รวมกันเรียกว่า ฌานที่ ๒ หรือทุติยฌาน; องค์ฌานทั้งหมดในฌานต่างๆ นับแยกเป็นหน่วยๆ ไม่ซ้ำกัน มีทั้งหมด ๖ อย่าง คือ วิตก ความตรึก วิจาร ความตรอง ปีติ ความอิ่มใจ สุข ความสุข อุเบกขา ความมีจิตเรียบสมดุลเป็นกลาง และ เอกัคคตา ความมีอารมณ์หนึ่งเดียว ดู ฌาน
  41. อนมานสูตร : สูตรที่ ๑๕ ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก เป็นภาษิตของพระมหาโมคคัลลานะ กล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย ว่าด้วยธรรมอันทำคนให้เป็นผู้ว่ายากหรือว่าง่าย การแนะนำตักเตือนตนเอง และการพิจารณาตรวจสอบตนเองของภิกษุ
  42. อนังคณสูตร : ชื่อสูตรที่ ๕ แห่งมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก เป็นคำสนทนาระหว่างพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ ว่าด้วยกิเลสอันยวนใจ และความต่างแห่งผู้มีกิเลสยวนใจกับผู้ไม่มีกิเลสยวนใจ
  43. อนัตตลักขณสูตร : ชื่อพระสูตรที่แสดงลักษณะแห่งเบญจขันธ์ ว่าเป็นอนัตตาพระศาสดาทรงแสดงแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้สำเร็จพระอรหัต ด้วยได้ฟังอนัตตลักขณสูตรนี้ (มาในมหาวรรค พระวินัยปิฎก และในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค พระสุตตันตปิฎก)
  44. อนุสติ : ความระลึกถึง, อารมณ์ที่ควรระลึกถึงเนืองๆ มี ๑๐ อย่าง คือ ๑) พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ๒) ธัมมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม ๓) สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ๔) สีลานุสติ ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา ๕) จาคานุสติ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว ๖) เทวตานุสติ ระลึกถึงคุณที่ทำคนให้เป็นเทวดา ๗) มรณัสสติ ระลึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรม ๘) กายคตาสติ ระลึกทั่วไปในกายให้เห็นว่าไม่งาม ๙) อานาปานสติ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ๑๐) อุปสมานุสติ ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบระงับกิเลสและความทุกข์ คือ นิพพาน
  45. อโนมา : ชื่อแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างแคว้นสักกะกับแคว้นมัลละ พระสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา มาถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ตรัสสั่งนายฉันนะให้นำม้าพระที่นั่งกลับคืนพระนคร ทรงตัดพระเมาลีด้วยพระขรรค์ อธิษฐานเพศบรรพชิต ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมานี้
  46. อปัณณกปฏิปทา : ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด, ทางดำเนินที่ไม่ผิด มี ๓ คือ ๑) อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์ ๒) โภชเนมัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค ๓) ชาคริยานุโยค การหมั่นประกอบความตื่น ไม่เห็นแก่นอน
  47. อภิญญา : ความรู้ยิ่ง, ความรู้เจาะตรงยวดยิ่ง, ความรู้ชั้นสูง มี ๖ อย่างคือ ๑) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ ๒) ทิพพโสต หูทิพย์ ๓) เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่นได้ ๔) ปุพเพนิวาสานุสติ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ ๕) ทิพพจักขุ ตาทิพย์ ๖) อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป, ๕ อย่างแรกเป็นโลกียอภิญญา ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา
  48. อรรถศาสน์ : คำสอนว่าด้วยเรื่องประโยชน์ ๓ อย่าง คือ ๑) ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๒) สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ที่จะได้ในภายหน้า ๓) ปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน
  49. อรหันต์ : ผู้สำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา, พระอริยบุคคลชั้นสูงสุด ผู้ได้บรรลุอรหัตตผล, พระอรหันต์ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา, พระอริยบุคคลชั้นสูงสุด ผู้ได้บรรลุอรหัตตผล, พระอรหันต์ ๒ ประเภท คือ พระสุกขวิปัสสก กับพระสมถยานิก ; พระอรหันต์ ๔ คือ ๑) พระสุกขวิปัสสก ๒) พระเตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา ๓) ๓) พระฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา ๖) ๔) พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ๔); พระอรหันต์ ๕ คือ ๑) พระปัญญาวิมุต ๒) พระอุภโตภาควิมุต ๓) พระเตวิชชะ ๔) พระฉฬภิญญะ ๕) พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ดู อริยบุคคล
  50. อรหันตขีณาสพ : พระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ใช้สำหรับพระสาวก, สำหรับพระพุทธเจ้า ใช้คำว่า อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้ชอบเอง
  51. 1-50 | 51-100 | 101-150 | 151-200 | 201-250 | 251-300 | 301-350 | [351-400] | 401-427

(0.0279 sec)