Dictionary : English, Thai, Pali. Link : Lexitron, RoyDict, BudDict, ETipitaka, PpmDict, Longdo.
Search: ยา , then , ยะ, ยา .

Budhism Thai-Thai Dict : ยา, 230 found, display 201-230
  1. วิกขัมภนวิมุตติ : พ้นด้วยข่มหรือสะกดไว้ ได้แก่ ความพ้นจากกิเลสและอกุศลธรรมได้ด้วยกำลังฌาน อาจสะกดไว้ได้นานกว่าตทังควิมุตติ แต่เมื่อฌานเสื่อมแล้ว กิเลสอาจเกิดขึ้นอีก จัดเป็นโลกิยวิมุตติ (ข้อ ๒ ในวิมุตติ ๕; ในบาลีเป็นข้อ ๑ ถึงชั้นอรรถกถา จึงกลายมาเป็นข้อ ๒)
  2. วิมละ : บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสีเป็นสหายของยสกุลบุตร ได้ทราบข่าวยสกุลบุตรออกบวช จึงได้บวชตามพร้อมด้วยสหายอีก ๓ คน คือ สุพาหุ ปุณณชิ และ ควัมปติ จัดเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง
  3. วิมุตติ : ความหลุดพ้น, ความพ้นจากกิเลส มี ๕ อย่าง คือ ๑.ตทังควิมุตติ พ้นด้วยธรรมคู่ปรับหรือพ้นชั่วคราว ๒.วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยข่มหรือสะกดได้ ๓.สมุจเฉทวิมุตติ พ้นด้วยตัดขาด ๔.ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ ๕.นิสฺสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป; ๒ อย่างแรก เป็น โลกิยวิมุตติ ๓ อย่างหลังเป็น โลกุตตรวิมุตติ
  4. วิสาขา : ชื่อมหาอุบาสิกาสำคัญในครั้งพุทธกาล เป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐี และนางสุมนา เกิดที่เมืองภัททิยะในแคว้นอังคะ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ต่อมาได้ย้ายตามบิดามาอยู่ที่เมืองสาเกตในแคว้นโกศลแล้วได้สมรสกับนายปุณณวัฒน์บุตรชายมิคารเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี และย้ายไปอยู่ในตระกูลฝ่ายสามี นางสามารถกลับใจมิคารเศรษฐี บิดาของสามี ซึ่งนับถือครนถ์ ให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา มิคารเศรษฐีนับถือนางมาก และเรียกนางวิสาขาเป็นแม่ นางวิสาขาจึงได้ชื่อใหม่อีกอย่างหนึ่งว่า มิคารมารดา (มารดาของมิคารเศรษฐี) นางวิสาขาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์อย่างมากมาย และได้ให้ขายเครื่องประดับประจำตัวตั้งแต่แต่งงาน เรียกชื่อว่า มหาลดาปสาธน์ ซึ่งมีค่าสูงยิ่ง นำเงินมาสร้างวัดถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์คือ มิคารมาตุปราสาท วัดบุพพาราม ณ พระนครสาวัตถี นางวิสาขามีบุตรหลานมากมายล้วนมีสุขภาพดีแทบทั้งนั้น แม้นางจะมีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี ก็ดูไม่แก่ และเป็นบุคคลที่ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางในสังคม ได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาทายิกาทั้งปวง
  5. ศากยะ : ชื่อกษัตริย์พวกหนึ่ง ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าโอกกากราช ซึ่งเป็นผู้สร้างและครองกรุงกบิลพัสดุ์ พระพุทธเจ้าก็เป็นกษัตริย์วงศ์นี้; ศากยะ เป็นคำสันสกฤต เรียกอย่างบาลีเป็น สักกะบ้าง, สักยะบ้าง, สากิยะบ้าง, ศากยะ หรือสักกะนี้ ใช้เป็นคำเรียกชื่อถิ่นหรือแคว้นของพวกเจ้าศากยะด้วย ดู สักกชนบท
  6. ศีล ๑๐ : สำหรับสามเณร แต่ผู้ใดศรัทธาจะรักษาก็ได้ หัวข้อเหมือนศีล ๘ แต่แยกข้อ ๗ เป็น ๒ ข้อ (= ๗-๘) เลื่อนข้อ ๘ เป็น ๙ และเติมข้อ ๑๐ คือ ๗.เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ฯลฯ ๘.เว้นจากการทัดทรงดอกไม้ ฯลฯ ๙.เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ ฯลฯ ๑๐.เว้นจากการรับทองและเงิน; คำสมาทาน (เฉพาะที่ต่าง) ว่า ๗.นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา- ๘.มาลาคนฺธวิเลปน ธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา- ๙.อุจฺจาสยนมหาสยนา- ๑๐.ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา- (คำต่อท้าย เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยมิ เหมือนกันทุกข้อ); ดู อาราธนาศีล ด้วย
  7. ศีล ๘ : สำหรับฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไปโดยรักษาในบางโอกาส หรือมีศรัทธาจะรักษาประจำก็ได้ เช่น แม่ชีมักรักษาประจำ หัวข้อเหมือนศีล ๕ แต่เปลี่ยนข้อ ๓ และเติมข้อ ๖-๗-๘ คือ ๓.เว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากร่วมประเวณี ๖.เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเที่ยงแล้วไป ๗.เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเคลื่องลูบไล้ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง ๘.เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย; คำสมาทาน (เฉพาะที่ต่างจากศีล ๕) ว่า ๓.อพฺรหฺมจริยา- ๖.วิกาลโภชนา- ๗.นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา- ๘.อุจฺจาสยนมหาสยนา- (คำต่อท้ายเหมือนข้อ ๑ ในศีล ๕); ดู อาราธนาศีล ด้วย
  8. สหธรรมิก : ผู้มีธรรมร่วมกัน, ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน แสดงไว้ในคัมภีร์มหานิทเทส แห่งพระสุตตันตปิฏก มี ๗ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา; ในสัตตาหกรณียะ สหธรรมิก ๕ (คัมภีร์ฝ่ายวินัยทั่วไปก็มักหมายเฉพาะจำนวน ๕)
  9. สังฆาทิเสส : ชื่อหมวดอาบัติหนักรองจากปาราชิก ต้องอยู่กรรมจึงพ้นได้ คือเป็นครุกาบัติ (อาบัติหนัก) แต่ยังเป็นสเตกิจฉา (แก้ไขหรือเยียวยาได้); ตามศัพท์ สังฆาทิเสส แปลว่า หมวดอาบัติอันจำปรารถนาสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลอ, หมายความว่า วิธีการที่จะออกจากอาบัตินี้ ต้องอาศัยสงฆ์ ตั้งแต่ต้นไปจนตลอด กล่าวคือ เริ่มต้นจะอยู่ปริวาส ก็ต้องขอปริวาสจากสงฆ์ ต่อจากนั้น จะประพฤติมานัตก็ต้องอาศัยสงฆ์เป็นผู้ให้ ถ้ามีมูลายปฏิกัสสนาก็ต้องสำเร็จด้วยสงฆ์อีกและท้ายที่สุดก็ต้องขออาภัพภานจากสงฆ์; สิกขาบทที่ภิกษุละเมิดแล้ว จะต้องอาบัติสังฆาทิเสส ใช้เป็นชื่อเรียกสิกขาบท ๑๓ ข้อนี้ด้วย
  10. สังโยชน์ : กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ อย่าง คือ ก.โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ได้แก่ ๑.สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน ๒.วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ๓.สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต ๔.กามราคะ ความติดใจในกามคุณ ๕.ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ ข.อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง ๕ ได้แก่ ๖.รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต ๗.อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม ๘.มานะ ความถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ ๙.อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ๑๐.อวิชชา ความไม่รู้จริง; พระโสดาบัน ละสังโยชน์ ๓ ข้อต้นได้, พระสกิทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ ๔ และ ๕ ให้เบาบางลงด้วย, พระอนาคามี ละสังโยชน์ ๕ ข้อต้นได้หมด, พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อ; ในพระอภิธรรมท่านแสดงสังโยชน์อีกหมวดหนึ่ง คือ ๑.กามราคะ ๒.ปฏิฆะ ๓.มานะ ๔.ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ๕.วิจิกิจฉา ๖.สีลัพพตปรามาส ๗.ภวราคะ (ความติดใจในภพ) ๘.อิสสา (ความริษยา) ๙.มัจฉริยะ (ความตระหนี่) ๑๐.อวิชชา
  11. สัตตาวาส : ภพเป็นที่อยู่ของสัตว์ มี ๙ เหมือนกับ วิญญาณัฏฐิติ ๗ ต่างแต่เพิ่มข้อ ๕ เข้ามาเป็น ๕.สัตว์เหล่าหนึ่งไม่มีสัญญา ไม่มีการเสวยเวทนา เช่นพวกเทพผู้เป็นอสัญญีสัตว์, เลื่อนข้อ ๕-๖-๗ ออกไปเป็นข้อ ๖-๗-๘ แล้วเติมข้อ ๙.สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ
  12. สัตตาหะ : สัปดาห์, ๗ วัน; มักใช้เป็นคำเรียกย่อ หมายถึง สัตตาหกรณียะ
  13. สารูป : เหมาะ, สมควร, ธรรมเนียมควรประพฤติในเวลาเข้าบ้าน, เป็นหมวดที่ ๑ แห่งเสขิยวัตร มี ๒๖ สิกขาบท
  14. สุชาดา : อุบาสิกาสำคัญคนหนึ่ง เป็นธิดาของผู้มีทรัพย์ซึ่งเป็นนายใหญ่แห่งชาวบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา ได้ถวายข้าวปายาสแก่พระมหาบุรุษในเวลาเช้าของวันที่จะตรัสรู้ มีบุตรชื่อยส ซึ่งต่อมาออกบวชเป็นพระอรหันต์ นางสุชาดาได้เป็นปฐมอุบาสิกา พร้อมกับภรรยาเก่าของพระยสะและได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาอุบาสิกาผู้ถึงสรณะเป็นปฐม
  15. สุพาหุ : บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี เป็นสหายของยสกุลบุตร ได้ทราบข่าวยสกุลบุตรออกบวช จึงได้บวชตามพร้อมด้วยสหายอีก ๓ คน คือ วิมละ ปุณณชิ และควัมปติ ได้เป็นสาวกรุ่นแรกที่พระพุทธเจ้าส่งไปประกาศพระศาสนา
  16. สุภัททะ : ปัจฉิมสิกขิสาวก (สาวกผู้ทันเห็นองค์สุดท้าย) ของพระพุทธเจ้า เรียกสั้นๆ ว่า ปัจฉิมสาวก เดิมเป็นพราหมณ์ตระกูลใหญ่ ต่อมาออกบวชเป็นปริพาชก อยู่ในเมืองกุสินารา ในวันที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน สุภัททปริพาชกได้ยินข่าวแล้วคิดว่าตนมีข้อสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง อยากจะขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อแก้ข้อสงสัยนั้นเสียก่อนที่จะปรินิพพาน จึงเดินทางไปยังสาลวัน ตรงไปหาพระอานนท์ แจ้งความประสงค์ขอเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระอานนท์ได้ห้ามไว้ เพราะเกรงว่าพระองค์เหน็ดเหนื่อยอยู่แล้ว จะเป็นการรบกวนให้ทรงลำบาก สุภัททปริพาชกก็คะยั้นคะยอจะขอเข้าเฝ้าให้ได้ พระอานนท์ก็ยืนกรานห้ามอยู่ถึง ๓ วาระ จนพระผู้มีพระภาคทรงได้ยินเสียงโต้ตอบกันนั้น จึงตรัสสั่งพระอานนท์ว่าสุภัททะมุ่งหาความรู้ มิใช่ประสงค์จะเบียดเบียนพระองค์ ขอให้ปล่อยให้เขาเข้าเฝ้าเถิด สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าแล้ว ทูลถามว่า สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย คือ เหล่าครูทั้ง ๖ นั้น ล้วนได้ตรัสรู้จริงทั้งหมดตามที่ตนปฏิญญา หรือได้ตรัสรู้เพียงบางท่านหรือไม่มีใครตรัสรู้จริงเลย พระพุทธเจ้าทรงห้ามเสียและตรัสว่าจะทรงแสดงธรรม คือ หลักการหรือหลักความจริงให้ฟัง แล้วตรัสว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ หาไม่ได้ในธรรมวินัยใด สมณะ (คืออริยบุคคลทั้ง ๔) ก็หาไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยใด สมณะก็หาได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยนี้ สมณะทั้ง ๔ จึงมีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะ และตรัสสรุปว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายเป็นอยู่โดยชอบ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อจบพระธรรมเทศนา สุภัททปริพาชกเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธเจ้าตรัสสั่งพระอานนท์ให้บวชสุภัททะในสำนักของพระองค์ โดยประทานพุทธานุญาตพิเศษให้ยกเว้นไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ท่านสุภัททะบวชแล้วไม่นาน (อรรถกถาว่าในวันนั้นเอง) ก็ได้บรรลุอรหัตตผล นับเป็นพุทธปัจฉิมสักขิสาวก
  17. เสกขสมมต : ผู้ได้รับสมมติเป็นเสขะหมายถึงครอบครัวที่สงฆ์ประชุมตกลงแต่งตั้งให้เป็นเสขะ ภิกษุใดไม่เจ็บไข้และเขาไม่ได้นิมนต์ไว้ ไปรับเอาอาหารจากครอบครัวนั้นมาขบฉัน ต้องอาบัติเป็นปาฏิเทสนียะสิกขาบทที่ ๓
  18. อติถิพลี : ต้อนรับแขก (ข้อ ๒ ในพลี ๕ แห่งโภคอาทิยะ ๕)
  19. อธิกรณสมถะ : ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์, วิธีดำเนินการเพื่อระงับอธิกรณ์มี ๗ อย่าง คือ ๑) สัมมุขาวินัย วิธีระงับในที่พร้อมหน้า ๒) สติวินัย วิธีระงับโดยถือสติเป็นหลัก ๓) อมูฬหวินัย วิธีระงับสำหรับผู้หายจากเป็นบ้า ๔) ปฏิญญาตกรณะ การทำตามที่รับ ๕) ตัสสปาปิยสิกา การตัดสินลงโทษแก่ผู้ผิด (ที่ไม่รับ) ๖) เยภุยยสิกา การตัดสินตามคำของคนข้างมาก ๗) ติณวัตถารกวินัย วิธีดุจกลบไว้ด้วยหญ้า (ประนีประนอม)
  20. อนาคามิมรรค : ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุผล คือ ความเป็นพระอนาคามี, ญาณคือความรู้เป็นเหตุละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ทั้ง ๕ (คือ ละได้เด็ดขาดอีก ๒ อย่าง ได้แก่ กามราคะ และปฏิฆะ เพิ่มจาก ๓ อย่างที่พระโสดาบันละได้แล้ว)
  21. อภิญญาเทสิตธรรม : ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยพระปัญญาอันยิ่ง หมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น
  22. อรูป : ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ได้แก่ อรูปฌาน, ภพของสัตว์ผู้เข้าถืออรูปฌาน, ภพของอรูปพรหม มี ๔ คือ ๑) อากาสานัญจายตนะ (กำหนดที่ว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์) ๒) วิญญาณัญจายตนะ (กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์) ๓) อากิญจัญญายตนะ (กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์) ๔) เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)
  23. อโศกมหาราช : พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของชมพูทวีป และเป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่สำคัญยิ่ง เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์ โมริยะ ครองราชสมบัติ ณ พระนคร ปาฎลีบุตร ตั้งแต่ พ) ศ) ๒๑๘ ถึง พ) ศ) ๒๖๐ (นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันส่วนมากกว่า พ) ศ) ๒๗๐-๓๒๑) เมื่อครองราชย์ได้ ๘ พรรษา ทรงยกทัพไปปราบแคว้นกลิงคะที่เป็นชนชาติเข้มแข็งลงได้ ทำให้อาณาจักรของพระองค์กว้างใหญ่ที่สุดในประวัติชาติอินเดีย แต่ในการสงครามนั้น มีผู้คนล้มตายและประสบภัยพิบัติมากมาย ทำให้พระองค์สลดพระทัย พอดีได้ทรงสดับคำสอนในพระพุทธศาสนา ทรงเลื่อมใสได้ทรงเลิกการสงคราม หันมาทำนุบำรุงพระศาสนาและความรุ่งเรืองในทางสงบของประเทศ ทรงสร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ และการส่งศาสนทูตออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ เช่น พระมหินถเถระ ไปยังลังกาทวีป และพระโสณะพระอุตตระมายังสุวรรณภูมิ เป็นต้น ชาวพุทธไทยมักเรียกพระองค์ว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
  24. อสีติมหาสาวก : พระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ องค์ บางทีเรียกอนุพุทธ ๘๐ องค์ มีรายนามตามลำดับอักษร ดังนี้ (ที่พิมพ์ตัว เอน คือท่านที่เป็นเอตทัคคะด้วย): กังขาเรวต, กัปป, กาฬุทายี, กิมพิล, กุมารกัสสป, กุณฑธาน, คยากัสสป, ควัมปติ, จุนท, จูฬปันถก, ชตุกัณณิ, ติสสเมตเตยย, โตเทยย, ทัพพมัลลบุตร, โธตก, นทีกัสสป, นันท, นันทก, นันทก, นาคิต, นาลก, ปิงคิย, ปิณโฑลภารทวาช, ปิลินทวัจฉ, ปุณณก, ปุณณชิ, ปุณณมันตานีบุตร, ปุณณสุนาปรันต, โปสาล, พาลุกะ (พักกุละ ก็เรียก), พาหิย ทารุนีริย, ภคุ, ภัททิย (ศากยะ), ภัททิย, ภัทราวุธ, มหากัจจายน, มหากัปปิน, มหากัสสป, มหาโกฏฐิต, มหานาม, มหาปันถก, มหาโมคคัลลาน, เมฆิย, เมตตคู, โมฆราช, ยส, ยโสช, รัฏฐปาล, ราธ, ราหุล, เรวตขทิรวนิย, ลกุณฏกภัททิย, วักกลิ, วังคีส, วัปป, วิมล, สภิย, สาคต, สารีบุตร, สีวลี, สุพาหุ, สุภูติ, เสล, โสณกุฏิกัณณ, โสณโกฬิวิส, โสภิต, เหมก, องคุลิมาล, อชิต, อนุรุทธ, อัญญาโกณทัญญ, อัสสชิ, อานนท, อุทย, อุทายี, อุบาลี, อุปวาณ, อุปสีว, อุปเสนวังคันตบุตร, อุรุเวลกัสสป
  25. อานนท์ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ เป็นโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของเจ้าชายสิทธิตถะ ท่านออกบวชในพระพุทธศาสนาพร้อมกับอนุรุทธะและอุบาลีเป็นต้น และได้รับเลือกเป็นพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะหลายด้านคือ เป็นพหูสูต เป็นผู้มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นอุปัฏฐาก ท่านบรรลุพระอรหัตหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน เป็นกำลังสำคัญในคราวทำปฐมสังคายนา คือ เป็นผู้วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม ท่านดำรงชีวิตสืบมาจนอายุได้ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพานในอากาศ เหนือแม่น้ำโรหิณี ซึ่งเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างแคว้นของพระญาติ ๒ ฝ่าย คือ ศากยะและโกลิยะ
  26. อาบัติ : การต้อง, การล่วงละเมิด, โทษที่เกิดแต่การละเมิดสิกขาบท; อาบัติ ๗ คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต; อาบัติ ๗ กองนี้จัดรวมเป็นประเภทได้หลายอย่าง โดยมากจัดเป็น ๒ เช่น ๑) ครุกาบัติ อาบัติหนัก (ปาราชิกและสังฆาทิเสส) ๒) ลหุกาบัติ อาบัติเบา (อาบัติ ๕ อย่างที่เหลือ); คู่ต่อไปนี้ก็เหมือนกัน คือ ๑) ทุฏฐลลาบัติ อาบัติไม่ชั่วหยาบ; ๑) อเทสนนาคามินี อาบัติที่ไม่พ้นได้ด้วยการแสดง ๒) เทสนาคามินี อาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดงคือเปิดเผยความผิดของตน; คู่ต่อไปนี้จัดต่างออกไปอีกแบบหนึ่งตรงกันทั้งหมด คือ ๑) อเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขไม่ได้ (ปาราชิก) ๒) สเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขได้ (อาบัติ ๖ อย่างที่เหลือ); ๑) อนวเสส ไม่มีส่วนเหลือ ๒) สาวเสส ยังมีส่วนเหลือ; ๑) อัปปฏิกัมม์หรืออปฏิกรรม ทำคืนไม่ได้คือแก้ไขไม่ได้ ๒) สัปปฏิกัมม์ หรือ สปฏิกรรม ยังทำคืนได้ คือแก้ไขได้
  27. อุททกดาบส : อาจารย์ผู้สอนสมาบัติที่พระมหาบุรุษเสด็จไปศึกษาอยู่ด้วยคราวหนึ่ง ก่อนที่จะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา, ท่านผู้นี้ได้สมาบัติ ถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ; เรียกเต็มว่า อุททกดาบส รามบุตร
  28. อุปาทายรูป : รูปอาศัย, รูปที่เกิดสืบเนื่องจากมหาภูตรูป, อาการของมหาภูตรูป ตามหลักฝ่ายอภิธรรมว่า มี ๒๔ คือ ก) ประสาท หรือ ปสาทรูป ๕ ได้แก่ จักขุ ตา, โสต หู, ฆาน จมูก, ชิวหา ลิ้น, กาย, มโน ใจ, ข) โคจรรูป หรือ วิสัยรูป (รูปที่เป็นอารมณ์) ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (โผฏฐัพพะ ไม่นับเข้าจำนวน เพราะตรงกับปฐวี เตโช วาโย ซึ่งเป็นมหาภูตรูป) ค) ภาวรูป ๒ ได้แก่ อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง และปุริสภาวะ ความเป็นชาย ง) หทัยรูป ๑ คือ หทัยวัตถุ หัวใจ จ) ชีวิตรูป ๑ คือ ชีวิตินทรีย์ ภาวะที่รักษารูปให้เป็นอยู่ ฉ) อาหารรูป ๑ คือกวฬิงการาหาร อาหารที่กินเกิดเป็นโอชา ช) ปริจเฉทรูป ๑ คือ อากาศธาตุ ช่องว่าง ญ) วิญญัติรูป ๒ คือ กายวิญญัติ ไหวกายให้รู้ความ วจีวิญญัติ ไหววาจาให้รู้ความ คือพูดได้ ฎ) วิการรูป ๕ อาการดัดแปลงต่างๆ ได้แก่ ลหุตา ความเบา, มุทุตา ความอ่อน, กัมมัญญตา ความควรแก่งาน, (อีก ๒ คือ วิญญัติรูป ๒ นั่นเอง ไม่นับอีก) ฏ) ลักขณรูป ๔ ได้แก่ อุปจยะ ความเติบขึ้นได้, สันตติ สืบต่อได้, ชรตา ทรุดโทรมได้, อนิจจตา ความสลายไม่ยั่งยืน (นับโคจรรูปเพียง ๔ วิการรูป เพียง ๓ จึงได้ ๒๔); ดู มหาภูต ด้วย
  29. เอกายนมรรค : ทางอันแรก คือ ข้อปฏิบัติอันประเสริฐที่จะนำผู้ปฏิบัติไปสู่ความบริสุทธิ์หมดจด หมดความทุกข์ และบรรลุนิพพาน ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔; อย่างกว้าง เช่น ในมหานิทเทส หมายถึง โพธิปักขิยธรรม ด้วย
  30. 1-50 | 51-100 | 101-150 | 151-200 | [201-230]

(0.0323 sec)