Dictionary : English, Thai, Pali. Link : Lexitron, RoyDict, BudDict, ETipitaka, PpmDict, Longdo.
Search: เจ้าเมือง, เมือง, เจ้า , then จา, จามอง, เจ้, เจ้า, เจ้าเมือง, มอง, เมือง .

Budhism Thai-Thai Dict : เจ้าเมือง, 340 found, display 101-150
  1. เทพ : เทพเจ้า, ชาวสรรค์, เทวดา; ในทางพระศาสนา ท่านจัดเป็น ๓ คือ ๑.สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ = เทวดาในสวรรค์และพรหมทั้งหลาย ๒.อุปปัติเทพ เทวดาโดยกำเนิด = เทวดาในสวรรค์และพรหมทั้งหลาย ๓.วิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์ = พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย
  2. เทวทัตต์ : ราชบุตรของพระเจ้าสุปปพุทธะ เป็นเชฏฐภาดา (พี่ชาย) ของพระนางพิมพาผู้เป็นพระชายาของสิทธัตถกุมาร เจ้าชายเทวทัตต์ออกบวชพร้อมกับพระอนุรุทธ์ พระอานนท์ และ กัลบกอุบาลี เป็นต้น บำเพ็ญฌานจนได้โลกิยอภิญญา ต่อมามีความมักใหญ่ ได้ยุยงพระเจ้าอชาตศัตรูและคบคิดกันพยายามประทุษร้ายพระพุทธเจ้า ก่อเรื่องวุ่นวายในสังฆมณฑลจนถึงทำสังฆเภท และถูกแผ่นดินสูบในที่สุด
  3. เทวทูต : ทูตของยมเทพ, สื่อแจ้งข่าวของมฤตยู, สัญญาที่เตือนให้ระลึกถึงคติ ธรรมดาของชีวิตมิให้มีความประมาท จัดเป็น ๓ ก็มี ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย, จัดเป็น ๕ ก็มี ได้แก่ เด็กแรกเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนถูกลงราชทัณฑ์ และคนตาย (เทวทูต ๓ มาในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, เทวทูต ๕ มาในเทวทูตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์); ส่วน เทวทูต ๔ ที่เจ้าชายสิทธัตถะพบก่อนบรรพชา คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะนั้น ๓ อย่างแรก เป็นเทวทูต ส่วนสมณะเรียกรวมเป็นเทวทูตไปด้วยโดยปริยาย เพราะมาในหมวดเดียวกัน แต่ในบาลี ท่านเรียกว่า นิมิต ๔ หาเรียกเทวทูต ๔ ไม่ อรรถกถาบางแห่งพูดแยกว่า พระสิทธัตถะเห็นเทวทูต ๓ และสมณะ (มีอรรถกถาแห่งหนึ่งอธิบายในเชิงว่าอาจเรียกทั้ง ๔ อย่างเป็นเทวทูตได้ โดยความหมายว่า เป็นของที่เทวดานิรมิตไว้ ระหว่างทางเสด็จของพระสิทธัตถะ)
  4. เทวรูปนาคปรก : เทวรูปลักษณะคล้ายพระพุทธรูปนาคปรก แต่ภายในนาคปรกนั้นเป็นเทวรูป ไม่ใช่พระพุทธรูป ที่เทวสถานเมืองลพบุรีมีมาก เป็นของลัทธิพราหมณ์
  5. เทโวโรหณะ : “การลงจากเทวโลก” หมายถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก ตำนานเล่าว่าในพรรษาที่ ๗ แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับจำพรรษาในดาวดึงสเทวโลก ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาพร้อมทั้งหมู่เทพ ณ ที่นั้น เมื่อถึงเวลาออกพรรษาในวันมหาปวารณา (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กลับคืนสู่โลกมนุษย์ ณ ประตูเมืองสังกัสสะ โดยมีเทวดาและมหาพรหมทั้งหลายแวดล้อม ลงมาส่งเสด็จ ฝูงชนจำนวนมากมายก็ได้ไปคอยรับเสด็จ กระทำมหาบูชาเป็นการเอิกเกริกมโหฬารและพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม มีผู้บรรลุคุณวิเศษจำนวนมาก ชาวพุทธในภายหลังได้ปรารภเหตุการณ์พิเศษครั้งนี้ ถือเป็นกาลกำหนดสำหรับบำเพ็ญการกุศล ทำบุญตักบาตรคราวใหญ่แด่พระสงฆ์ เป็นประเพณีนิยมสืบมา ดังปรากฏในประเทศไทย เรียกกันว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า ตักบาตรเทโว บางวัดก็จัดพิธีในวันออกพรรษา คือวันมหาปวารณา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ บางวัดจัดถัดจากนั้น ๑ วัน คือในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑
  6. ธรรมกาย : “ผู้มีธรรมเป็นกาย” เป็นพระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า (ตามความในอัคคัญญสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) หมายความว่า พระองค์ทรงคิดพุทธพจน์คำสอนด้วยพระหทัยแล้วทรงนำออกเผยแพร่ด้วยพระวาจา เป็นเหตุให้พระองค์ก็คือพระธรรม เพราะทรงเป็นแหล่งที่ประมวลหรือที่ประชุมอยู่แห่งธรรมอันปรากฏเปิดเผยออกมาแก่ชาวโลก; อนึ่งธรรมกายคือกองธรรมหรือชุมนุมแห่งธรรมนั้น ย่อมเจริญงอกงามเติบขยายขึ้นได้โดยลำดับจนไพบูลย์ ในบุคคลผู้เมื่อได้สดับคำสอนของพระองค์ แล้วฝึกอบรมตนด้วยไตรสิกขาเจริญมรรคให้บรรลุภูมิแห่งอริยชน ดังตัวอย่างดำรัสของพระมหาปชาบดีโคตมี เมื่อครั้งกราบทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อปรินิพพานตามความในคัมภีร์อปทานตอนหนึ่งว่า “ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์, ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์ก็เป็นพระบิดาของหม่อมฉัน..รูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันได้ทำให้เจริญเติบโต ส่วนธรรมกายอันเป็นที่เอิบสุขของหม่อมฉัน ก็เป็นสิ่งอันพระองค์ได้ทำให้เจริญเติบโต”; สรุปตามนัยอรรถกถาธรรมกายก็คือโลกุตตรธรรม ๙ หรือ อริยสัจ
  7. ธรรมคุณ : คุณของพระธรรม มี ๖ อย่าง คือ ๑.สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ๒.สนฺทิฏฺฐิโก อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ๓.อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล ๔.เอหิปสฺสิโก ควรเรียกให้มาดู ๕.โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา ๖.ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
  8. ธรรมเจดียสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ แห่งพระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยข้อความที่พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระพุทธเจ้า พรรณนาความเลื่อมใสศรัทธาของพระองค์ที่มีต่อพระรัตนตรัย
  9. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร : “พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป”, พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรมเป็นชื่อของ ปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากนั้น ตรัสรู้ ๒ เดือน ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งเว้นที่สุด ๒ อย่าง และว่าด้วยอริยสัจ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิภาณว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณคือความตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม) ท่านโกณฑัญญะหัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) และขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรก เรียกว่า เป็นปฐมสาวก
  10. โธโตทนะ : กษัตริย์ศากยวงศ์ เป็นพระราชบุตรองค์ที่ ๔ ของพระเจ้าสีหหนุ เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระเจ้าอาของพระพุทธเจ้า
  11. นกุลบิดา : “พ่อของนกุล”, คฤหบดี ชาวเมืองสุงสุมารคีรี ในแคว้นภัคคะ มีภรรยาชื่อ นกุลมารดา สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองสุงสุมารคีรี ประทับที่ป่าเภสกลาวัน ท่านคฤหบดีและภรรยาไปเฝ้าพร้อมกับชาวเมืองคนอื่นๆ พอได้เห็นครั้งแรก ทั้ง ๒ สามีภรรยาก็เกิดความรู้สึกสนิทหมายใจเหมือนว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุตรของตน ได้เข้าไปถึงพระองค์และแสดงความรู้สึกนั้น พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมโปรด ทั้ง ๒ ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ท่านนกุลบิดาและนกุลมารดานี้ เป็นคู่สามีภรรยาตัวอย่าง ผู้มีความจงรักภักดีต่อกันอย่างบริสุทธิ์และมั่นคงยั่งยืน ตราบเท่าชรา ทั้งยังปรารถนาจะพบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้า เคยทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงหลักธรรมที่จะทำให้สามีภรรยาครองรักกันยั่งยืนตลอดไปทั้งภพนี้และภพหน้า เมื่อท่านนกุลบิดาเจ็บป่วยออดแอดร่างกายอ่อนแอ ไม่สบายด้วยโรคชรา ท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาครั้งหนึ่ง ที่ท่านประทับใจมากคือ พระดำรัสที่แนะนำให้ทำใจว่า “ถึงแม้ร่างกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วย” ท่านนกุลบิดาได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้สนิทสนมคุ้นเคย (วิสสาสิกะ)
  12. นครโศภินี : หญิงงามเมือง, หญิงขายตัว (พจนานุกรมเขียน นครโสภิณี, นครโสเภณี)
  13. นบี : ศาสดาผู้ประกาศศาสนาอิสลาม ทำหน้าที่แทนพระผู้เป็นเจ้า, ผู้เทศนา, ผู้ประกาศข่าว ชาวมุสลิมถือว่าพระมะหะหมัดเป็นนาบีองค์สุดท้าย
  14. นวโกวาท : คำสอนสำหรับผู้บวชใหม่, คำสอนสำหรับภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่, ชื่อหนังสือแบบเรียนนักธรรมชั้นตรี เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
  15. นันทกุมาร : พระราชบุตรของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางปชาบดีโคตมี ต่อมาออกบวชมีชื่อว่าพระนันทะ คือ องค์ที่มีรูปพรรณสัณฐานคล้ายพระพุทธองค์นั่นเอง
  16. นาบี : ศาสดาผู้ประกาศศาสนาอิสลาม ทำหน้าที่แทนพระผู้เป็นเจ้า, ผู้เทศนา, ผู้ประกาศข่าว ชาวมุสลิมถือว่าพระมะหะหมัดเป็นนาบีองค์สุดท้าย
  17. นาลกะ : 1.หลานชายของอสิตดาบส ออกบวชตามคำแนะนำของลุง และไปบำเพ็ญสมณธรรมรอการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอยู่ในป่าหิมพานต์ ครั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้มาทูลถามเรื่องโมไนยปฏิปทา และกลับไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าหิมพานต์ ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ดำรงอายุอยู่อีก ๗ เดือน ก็ปรินิพพานในป่าหิมพานต์นั้นเอง; ท่านจัดเป็นมหาสาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวกด้วย 2.ชื่อหมู่บ้านอันเป็นที่เกิดของพระสารีบุตรไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ บางทีเรียกนาลันทคาม
  18. นาลันทา : ชื่อเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ ๑ โยชน์ ณ เมืองนี้ มีสวนมะม่วง ชื่อ ปาวาริกัมพวัน (สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี) ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้ง คัมภีร์ฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระสารีบุตร อัครสาวก เกิดที่เมืองนาลันทา แต่คัมภีร์ฝ่ายบาลีเรียกถิ่นเกิดของพระสารีบุตรว่า หมู่บ้านนาลกะหรือนาลันทคาม
  19. นิคม : 1.หมู่บ้านใหญ่, เมืองขนาดเล็ก, ย่านการค้า 2.คำลงท้ายของเรื่อง
  20. นิครนถนาฏบุตร : คณาจารย์เจ้าลัทธิคนหนึ่งในจำนวนครูทั้ง ๖ มีคนนับถือมาก มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น วรรธมานบ้าง พระมหาวีระบ้าง เป็นต้น ศาสนาเชน ซึ่งยังมีอยู่ในประเทศอินเดีย
  21. นิพัทธทุกข์ : ทุกข์เนืองนิตย์, ทุกข์ประจำ, ทุกข์เป็นเจ้าเรือน ได้แก่ หนาวร้อน หิวกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ
  22. นิสสารณา : การไล่ออก, การขับออกจากหมู่ เช่น นาสนะสามเณรผู้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าออกไปเสียจากหมู่ (อยู่ในอปโลกนกัมม์) ประกาศถอนธรรมกถึกผู้ไม่แตกฉานในธรรมในอรรถ คัดค้านคดีโดยหาหลักฐานมิได้ ออกเสียจากการระงับอธิกรณ์ (อยู่ในญัตติกัมม์) คู่กับ โอสารณา
  23. เนปาล : ชื่อประเทศอันเคยเป็นที่ตั้งของแคว้นศากยะบางส่วน รวมทั้งลุมพินีอันเป็นที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศอินเดียและทางใต้ของประเทศจีน มีเนื้อที่ ๑๔๐,๗๙๗ ตารางกิโลเมตร มีพลเมืองประมาณ ๑๓,๔๒๐,๐๐๐ คน (พ.ศ.๒๕๒๑); หนังสือเก่าเขียน เนปอล
  24. ใบฎีกา : 1.หนังสือนิมนต์พระ ตัวอย่าง “ขออาราธนาพระคุณเจ้า (พร้อมด้วยพระสงฆ์ในวัดนี้อีก......รูป) เจริญพระพุทธมนต์ (หรือสวดมนต์ หรือแสดงพระธรรมเทศนา) ในงาน.....บ้าน เลขที่.......ตำบล.......อำเภอ.......ในวันที่......เดือน.......พ.ศ........เวลา......น.” (หากจะอาราธนาให้รับอาหารบิณฑบาตเช้าหรือเพลหรือมีการตักบาตรใช้ปิ่นโต ก็ให้ระบุไว้ด้วย) 2.ตำแหน่งพระฐานานุกรมรองจากสมุห์ลงมา
  25. ใบปวารณา : ใบแจ้งแก่พระว่าให้ขอได้ตัวอย่าง “ข้าพเจ้าขอถวายจตุปัจจัยอันควรแก่สมณบริโภค แต่พระคุณเจ้า เป็นมูลค่า....บาท......สต.หากพระคุณเจ้าต้องประสงค์สิ่งใดอันควรแก่สมณบริโภคแล้ว ขอได้โปรดเรียกร้องจากกัปปิยการก ผู้ปฏิบัติของพระคุณเจ้า เทอญ
  26. ปฐมเทศนา : เทศนาครั้งแรก หมายถึง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากวันตรัสรู้ ๒ เดือน ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
  27. ประทับ : อยู่ เช่นประทับแรม (สำหรับเจ้านาย), แนบอยู่เช่นเอาปืนประทับบ่า
  28. ประธานาธิบดี : หัวหน้าผู้ปกครองบ้านเมืองแบบสาธารณรัฐ
  29. ปัจจันตประเทศ : ประเทศปลายแดน, ประเทศชายแดน, หัวเมืองชั้นนอก, ถิ่นที่ยังไม่เจริญ คือ นอกมัธยมประเทศ หรือ มัชฌิมชนบท
  30. ปาฐา : ชื่อเมืองหนึ่งในมัธยมประเทศ ครั้งพุทธกาล ภิกษุชาวเมืองนี้คณะหนึ่ง เป็นเหตุปรารภให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการกรานกฐิน; พระไตรปิฎกบางฉบับเขียนเป็น ปาวา
  31. ปาตลีบุตร : ชื่อเมืองหลวงของพระเจ้าอโศกมหาราช; เขียน ปาฏลีบุตร ก็มี
  32. ปาริเลยยกะ : ชื่อแดนบ้านแห่งหนึ่งใกล้เมืองโกสัมพีที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปอาศัยอยู่ในป่ารักขิตวันด้วยทรงปลีกพระองค์ จากพระสงฆ์ผู้แตกกันในกรุงโกสัมพี; ช้างที่ปฏิบัติพระพุทธเจ้าที่ป่านั้น ก็ชื่อ ปาริเลยยกะ; เราเรียกกันในภาษาไทยว่า ปาเลไลยก์ก็มี ป่าเลไลยก์ ก็มี ควรเขียน ปาริไลยก์ หรือปาเรไลยก์
  33. ปาวาลเจดีย์ : ชื่อเจดียสถานอยู่ที่เมืองเวสาลี พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาส ครั้งสุดท้ายและทรงปลงพระชนมายุสังขาร ณ เจดีย์นี้ก่อนปรินิพพาน ๓ เดือน
  34. ปิลินทวัจฉคาม : ชื่อหมู่บ้านของคนงานวัดจำนวน ๕๐๐ ที่พระเจ้าพิมพิสารพระราชทานให้เป็นผู้ช่วยทำที่อยู่ของพระปิลินทวัจฉะ
  35. ปิลินทวัจฉะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์วัจฉโคตร ในเมืองสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า มีศรัทธาเลื่อมใสออกบวชในพระพุทธศาสนา เจริญวิปัสสนาแล้วได้บรรลุอรหัตตผล ต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นที่รักของพวกเทวดา
  36. ปุณณชิ : บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี เป็นสหายของยสกุลบุตร ได้ทราบข่าวยสกุลบุตรออกบวช จึงได้บวชตาม พร้อมด้วยสหายอีก ๓ คน คือวิมละ สุพาหุ และควัมปติ ได้เป็นองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวก
  37. ปุณณมันตานีบุตร : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง ได้ชื่ออย่างนี้ เพราะเดิมชื่อปุณณะ เป็นบุตรของนางมันตานี ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุ ไม่ไกลจากเมืองกบิลพัสดุ์ เป็นหลานของพระอัญญาโกณทัญญะ ได้บรรพชาเมื่อพระเถระผู้เป็นลุงเดินทางมายังเมืองกบิลพัสดุ์ บวชแล้วไม่นานก็บรรลุอรหัตตผล เป็นผู้ปฏิบัติตนตามหลักกถาวัตถุ ๑๐ และสอนศิษย์ของตนให้ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาพระธรรมกถึก หลักธรรมเรื่องวิสุทธิ ๗ ก็เป็นภาษิตของท่าน
  38. ปุณณสุนาปรันตะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง ในจำนวนอสีติมหาสาวก ชื่อเดิมว่า ปุณณะ เกิดที่เมืองท่าชื่อ สุปปารกะ ในแคว้นสุนาปรันตะ
  39. ปุริสเมธ : ความฉลาดในารบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ เป็นสังคหวัตถุประการหนึ่ง ของผู้ปกครองบ้านเมือง
  40. ผทม : นอน (สำหรับเจ้า)
  41. ผนวช : บวช (สำหรับเจ้า)
  42. พรหม : ผู้ประเสริฐ, เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี ๒ พวก คือ รูปพรหมมี ๑๖ ชั้น อรูปพรหมมี ๔ ชั้น ดู พรหมโลก, เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์
  43. พระพุทธเจ้า : พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม, ท่านผู้รู้ดีรู้ชอบด้วยตนเองก่อนแล้วสอนประชุมชนให้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ; พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ที่ใกล้กาลปัจจุบันที่สุดและคัมภีร์กล่าวถึงบ่อยๆ คือ พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระโคดม; พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์แห่งภัทรกัปป์ปัจจุบันนี้ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคดม และพระเมตเตยยะ (เรียกกันสามัญว่า พระศรีอาริย์ หรือ พระศรีอารยเมตไตรย); พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์นับแต่พระองค์แรกที่พระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ได้ทรงพบและทรงได้รับการพยากรณ์ว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า (รวม ๒๔ พระองค์) จนถึงพระองค์เองด้วย คือ ๑.พระทีปังกร ๒.พระโกณฑัญญะ ๓.พระมังคละ ๔.พระสุมนะ ๕.พระเรวตะ ๖.พระโสภิตะ ๗.พระอโนมทัสสี ๘.พระปทุมะ ๙.พระนารทะ ๑๐.พระปทุมุตตระ ๑๑.พระสุเมธะ ๑๒.พระสุชาตะ ๑๓.พระปิยทัสสี ๑๔.พระอัตถทัสสี ๑๕.พระธัมมทัสสี ๑๖.พระสิทธัตถะ ๑๗.พระติสสะ ๑๘.พระปุสสะ ๑๙.พระวิปัสสี ๒๐.พระสิขี ๒๑.พระเวสสภู ๒๒.พระกกุสันธะ ๒๓.พระโกนาคมน์ ๒๔.พระกัสสปะ ๒๕.พระโคตมะ (เรื่องมาในคัมภีร์พุทธวงส์ แห่งขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก); ดู พุทธะ ด้วย
  44. พราหมณ์ : คนวรรณะหนึ่งใน ๔ วรรณะ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร; พราหมณ์เป็นวรรณะนักบวชและเป็นเจ้าพิธี ถือตนว่าเป็นวรรณะสูงสุด เกิดจากปากพระพรหม ดู วรรณะ
  45. พหุปุตตเจดีย์ : เจดียสถานแห่งหนึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองเวสาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงทำนิมิตโอภาสแก่พระอานนท์
  46. พากุละ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรเศรษฐีเมืองโกสัมพี มีเรื่องเล่าว่า เมื่อยังเป็นทารก ขณะที่พี่เลี้ยงนำไปอาบ***เล่นที่แม่*** ท่านถูกปลาใหญ่กลืนลงไปอยู่ในท้อง ต่อมาปลานั้นถูกจับได้ที่เมืองพาราณสี และถูกขายให้แก่ภรรยาเศรษฐีเมืองพาราณสี ภรรยาเศรษฐีผ่าท้องปลาพบเด็กแล้วเลี้ยงไว้เป็นบุตร ฝ่ายมารดาเดิมทราบข่าว จึงขอบุตรคืน ตกลงกันไม่ได้ จนพระราชาทรงตัดสินให้เด็กเป็นทายาทของทั้ง ๒ ตระกูล ท่านจึงได้ชื่อว่า "พากุละ" แปลว่า คน ๒ ตระกูล หรือผู้ที่ ๒ ตระกูลเลี้ยง ท่านอยู่ครองเรือนมาจนอายุ ๘๐ ปี จึงได้ฟังพระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา มีความเลื่อมใสขอบวชแล้วบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นผู้มีอาพาธน้อย คือสุขภาพดี; พักกุละ ก็เรียก
  47. พาราณสี : ชื่อเมืองหลวงของแคว้นกาสี อยู่ริมแม่น้ำคงคา ปัจจุบันเรียก พานาราส หรือ เบนาเรส (Banaras, Benares) ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาซึ่งปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ อยู่ห่างจากตัวเมืองพาราณสีปัจจุบันประมาณ ๖ ไมล์
  48. พาหิย ทารุจีริยะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในครอบครัวคนมีตระกูลในแคว้นพาหิยรัฐ ลงเรือเดินทะเลเพื่อจะไปค้าขาย เรือแตกกลางทะเลรอดชีวิตไปได้ แต่หมดเนื้อหมดตัว ต้องแสดงตนเป็นผู้หมดกิเลสหลอกลวงประชาชนเลี้ยงชีวิต ต่อมาพบพระพุทธเจ้า ทูลขอให้ทรงแสดงธรรม พระองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติต่ออารมณ์ที่รับรู้ทางอายตนะทั้ง ๖ พอจบพระธรรมเทศนาย่นย่อนั้น พาหิยะก็สำเร็จอรหัต แต่ไม่ทันได้อุปสมบท กำลังเที่ยวหาบาตรจีวร เผอิญถูกโคแม่ลูกอ่อนขวิดเอาสิ้นชีวิตเสียก่อน ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านตรัสรู้ฉับพลัน
  49. พินัยกรรม : หนังสือสำคัญที่เจ้าทรัพย์ทำไว้ก่อนตาย แสดงความประสงค์ว่าเมื่อตายแล้วขอมอบมรดกที่ระบุไว้ในหนังสือหนังสือสำคัญนั้น ให้แก่คนนั้นๆ, ตามพระวินัย ถ้าภิกษุทำเช่นนี้ ไม่มีผล ต้องปลงบริขาร จึงใช้ได้
  50. พุทธบาท : รอยเท้าของพระพุทธเจ้า อรรถกถาว่าทรงประทับแห่งแรกที่บนหาดทรายฝั่งแม่น้ำนันมทา แห่งที่สองที่ภูเขาสัจจพันธคีรี นอกจากนี้ ตำนานสมัยต่อๆ มาว่ามีที่ภูเขาสุมนกูฏ (ลังกาทวีป) และเมืองโยนก รวมเป็น ๕ สถาน
  51. 1-50 | 51-100 | [101-150] | 151-200 | 201-250 | 251-300 | 301-340

(0.0342 sec)