ปสาทะ : ความเลื่อมใส, ความชื่นบานผ่องใส, อาการที่จิตเกิดความแจ่มใส โปร่งโล่งเบิกบานปราศจากความอึดอัดขุ่นมัว ต่อบุคคลหรือสิ่งที่พบเห็น สดับฟังหรือระลึกถึง; มักใช้คู่กับ ศรัทธา
พุทธคุณ : คุณของพระพุทธเจ้า มี ๙ คือ ๑.อรหํ เป็นพระอรหันต์ ๒.สมฺมาสมฺพุทฺโธ ตรัสรู้เองโดยชอบ ๓.วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ๔.สุคโต เสด็จไปดีแล้ว ๕.โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก ๖.อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีฝึกคนที่ฝึกได้ไม่มีใครยิ่งกว่า ๗.สตฺถาเทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ๘.พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว ๙.ภควา เป็นผู้มีโชค พุทธคุณทั้งหมดนั้น โดยย่อ มี ๒ คือ ๑.พระปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญา ๒.พระกรุณาคุณ พระคุณคือพระมหากรุณา หรือตามที่นิยมกล่าวกันในประเทศไทย ย่อเป็น ๓ คือ ๑.พระปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญา ๒.พระวิสุทธิคุณ พระคุณคือความบริสุทธิ์ ๓.พระกรุณาคุณ พระคุณคือพระมหากรุณา
พุทฺโธ : ทรงเป็นผู้ตื่น ไม่หลงงมงายเองด้วย และทรงปลุกผู้อื่นให้ตื่นพ้นจากความหลงงมงายนั้นด้วย ทรงเป็นผู้เบิกบาน มีพระทัยผ่องแผ้ว บำเพ็ญพุทธกิจได้ถูกต้องบริบูรณ์
ภาวนา : การทำให้มีขึ้นเป็นขึ้น, การทำให้เกิดขึ้น, การเจริญ, การบำเพ็ญ 1.การฝึกอบรม ตามหลักพระพุทธศาสนา มี ๒ อย่าง คือ ๑.สมถภาวนา ฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ ๒.วิปัสสนาภาวนา ฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้เข้าใจตามเป็นจริง, อีกนัยหนึ่ง จัดเป็น ๒ เหมือนกันคือ ๑.จิตตภาวนา การฝึกอบรมจิตใจให้เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม มีความเข้มแข็งมั่นคง เบิกบาน สงบสุขผ่องใส พร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ ๒.ปัญญาภาวนา การฝึกอบรมเจริญปัญญา ให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนมีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสและความทุกข์ 2.การเจริญสมถกรรมฐานเพื่อให้เกิดสมาธิ มี ๓ ขั้น คือ ๑.บริกรรมภาวนา ภาวนาขั้นตระเตรียม คือกำหนดอารมณ์กรรมฐาน ๒.อุปจารภาวนา ภาวนาขั้นจวนเจียน คือเกิดอุปจารสมาธิ ๓.อัปปนาภาวนา ภาวนาขั้นแน่วแน่ คือเกิดอัปปนาสมาธิเข้าถึงฌาน 3.ในภาษาไทย ความหมายเลือนมาเป็น การท่องบ่นหรือว่าซ้ำๆ ให้ขลัง ก็มี
มุทิตา : ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี, เห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข ก็แช่มชื่นเบิกบานใจด้วย เห็นเขาประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็พลอยยินดีบันเทิงใจ พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน ไม่กีดกันริษยา; ธรรมตรงข้ามคือ อิสสา (ข้อ ๓ ในพรหมวิหาร ๔)
สัมปหังสนา : การทำให้ร่าเริง หรือปลุกให้ร่าเริง คือ ทำบรรยากาศให้สนุกสดชื่นแจ่มใส เบิกบานใจ ให้ผู้ฟังแช่มชื่นมีความหวัง มองเห็นผลดีและทางสำเร็จ; เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการสอนที่ดีตามแนวพุทธจริยา (ข้อก่อนคือสมุตเตชนา)
อธิจิตตสิกขา : การศึกษาในอธิจิตต์, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิต เพื่อให้เกิดสมาธิอย่างสูง, การฝึกฝนอบรมจิต เพื่อให้เกิดสมาธิอย่างสูง, การฝึกฝนอบรมจิตในให้เข้มแข็งมั่นคงมีคุณธรรม เช่น ขันติ เมตตา กรุณา สดชื่น เบิกบาน เป็นสุข ผ่องใส เหมาะแก่การใช้ความคิดพิจารณา เป็นฐานแห่งการเจริญปัญญา (ข้อ ๒ ในสิกขา ๓ หรือไตรสิกขา) เรียกกันง่ายๆ ว่า สมาธิ
อุทาน : วาจาที่เปล่งขึ้นโดยความเบิกบานใจ มักเป็นข้อความยาว ๑ หรือ ๒ คาถา; ในภาษาไทย หมายถึงเสียงหรือคำที่เปล่งออกมาเวลาดีใจ หรือตกใจ
สถลมารค : ทางบก