ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม : กรรมอันให้ผลในปัจจุบัน, กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ซึ่งให้ผลทันตาเห็น (ข้อ ๑ ใน กรรม ๑๒)
ดวงตาเห็นธรรม :
แปลจากคำว่า ธรรมจักษุ หมายถึงความรู้เห็นตามเป็นจริง ด้วยปัญญาว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา ดู ธรรมจักษุ
หน : ทิศ เช่น หนบูร (ทิศตะวันออก)
ปฏิโลม : ทวนลำดับ, ย้อนจากปลายมาหาต้น เช่นว่า ตจปัญจกกัมมัฏฐาน จากคำท้ายมาหาคำต้นว่า ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา (ตรงข้ามกับอนุโลม ตามลำดับว่า เกสา โลมา......), สาวเรื่องทวนจากผลเข้าไปหาเหตุ เช่น วิญญาณเป็นผล มีเพราะสังขาร เป็นเหตุ, สังขารเป็นผล มีเพราะอวิชชาเป็นเหตุ เป็นต้น
วิญญาณ : ความรู้แจ้งอารมณ์, จิต, ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน เช่น รูปอารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตา เป็นต้น ได้แก่ การเห็น การได้ยินเป็นอาทิ; วิญญาณ ๖ คือ ๑.จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา(เห็น) ๒.โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน) ๓.ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก(ได้กลิ่น) ๔.ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น(รู้รส) ๕.กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย) ๖.มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)
อนุโลม : เป็นไปตาม, คล้อยตาม, ตามลำดับ เช่น ว่าตจปัญจกรรมฐานไปตามลำดับอย่างนี้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ (ตรงข้ามกับปฏิโลม คือ ทวนลำดับว่า ตโจ ทันตา นขา โมลา เกสา) ; สาวออกไปตามลำดับจากเหตุไปหาผลข้างหน้า เช่น อวิชชาเป็นเหตุสังขารเป็นผล, สังขารเป็นเหตุ วิญญาณเป็นผล เป็นต้น; จัดเข้าได้, นับได้ว่าเป็นอย่างนั้น เช่น อนุโลมนุสา
มิจฉาทิฏฐิ : เห็นผิด, ความเห็นที่ผิดจากคลองธรรม เช่นเห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี มารดาบิดาไม่มี เป็นต้น และความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ (พจนานุกรมเขียน มิจฉาทิฏฐิ)
ลักซ่อน : เห็นของเขาทำตก มีไถยจิตเอาดินกลบเสีย หรือเอาของมีใบไม้เป็นต้น ปิดเสีย
อนุมัติ : เห็นตาม, ยินยอม, เห็นชอบตามระเบียบที่กำหนดไว้
กถาวัตถุ : ถ้อยคำที่ควรพูด, เรื่องที่ควรนำมาสนทนากันในหมู่ภิกษุ มี ๑๐ อย่างคือ ๑.อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย ๒.สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสันโดษ ๓.ปวิเวกกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสงัดกายสงัดใจ ๔.อสังสัคคกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ๕.วิริยารัมภกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร ๖.สีลกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล ๗.สมาธิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำจิตมั่น ๘.ปัญญากถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา ๙.วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลสและความทุกข์ ๑๐.วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดความรู้ความเห็นในภาวะที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ - 1. "Points of controversy"; name of the fifth book of the Abidhamma Pitaka. 2.a subject of discussion.
กรุณา :
ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์, ความหวั่นใจ เมื่อเห็นผู้อื่นมีทุกข์ คิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ของเขา ดู พรหมวิหาร -compassion, pity.
กายคตาสติ : สติที่เป็นไปในกาย, สติอันพิจารณากายให้เห็นตามสภาพที่มีส่วนประกอบ ซึ่งล้วนเป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ ทำให้เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงใหลมัวเมา
กายคติ : สติที่เป็นไปในกาย, สติอันพิจารณากายให้เห็นตามสภาพที่มีส่วนประกอบ ซึ่งล้วนเป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ ทำให้เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงใหลมัวเมา
กาลามสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสสอนชนชาวกาลามะแห่งเกสปุตตนิคมใน แคว้นโกศล ไม่ให้เชื่อถืองมงายไร้เหตุผล ตามหลัก ๑๐ ข้อ คือ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา, ด้วยการถือสืบๆ กันมา, ด้วยการเล่าลือ, ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์, ด้วยตรรก, ด้วยการอนุมาน, ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล, เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน, เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ, เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา; ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น เรียกอีกอย่างว่าเกสปุตติยสูตร หรือเกสปุตตสูตร.
กุศลกรรมบถ : ทางแห่งกรรมดี, ทางทำดี, ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล, กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่สุคติมี ๑๐ อย่าง คือก.กายกรรม ๓ ได้แก่ ๑.ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำลายชีวิต ๒.อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาของที่เข้ามิได้ให้ ๓.กาเมสุมิจฉาจาร เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกามข.วจีกรรม ๔ ได้แก่ ๔.มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ ๕.ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด ๖.ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ ๗.สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อค.มโนกรรม ๓ ได้แก่ ๘.อนภิชฌา ไม่โลภคอยจ้องอยากได้ของเขา ๙.อพยาบาท ไม่คิดร้ายเบียดเบียนเขา ๑๐.สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม
โกณฑัญญะ : พราหมณ์หนุ่มที่สุดในบรรดาพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทำนายลักษณะของพระสิทธัตถกุมาร ต่อมาออกบวชตามปฏิบัติพระสิทธัตถะ ขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นหัวหน้าพระปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม ขอบรรพชาอุปสมบทเป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า มีชื่อเรียกกันภายหลังว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ
ครุธรรม : ธรรมอันหนัก, หลักความประพฤติสำหรับนางภิกษุณีจะพึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันต้องปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ละเมิดตลอดชีวิต มี ๘ ประการ คือ ๑.ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้ว ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว ๒.ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้ ๓.ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน ๔.ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจหมายถึง ระแวงสงสัยหรือประพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง) ๕.ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) ๑๕ วัน ๖.ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา ๗.ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ ๘.ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุแต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้
คารวะ : ความเคารพ, ความเอื้อเฟือ, ความใส่ใจมองเห็นความสำคัญที่จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ให้ถูกต้องเหมาะสม มี ๖ อย่างคือ ๑.พุทฺธคารวตา ความเคารพในพระพุทธเจ้า ๒.ธมฺมคารวตา ความเคารพในพระธรรม ๓.สงฺฆคารวตา ความเคารพในพระสงฆ์ ๔.สิกฺขาคารวตา ความเคารพในการศึกษา ๕.อปฺปมาทคารวตา ความเคารพในความไม่ประมาท ๖.ปฏิสนฺถารคารวตา ความเคารพในปฏิสันถาร คือ การต้อนรับปราศรัย
ฆนสัญญา : ความสำคัญว่าเป็นก้อน, ความสำคัญเห็นเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งบังปัญญาไม่ให้เห็นภาวะที่เป็นอนัตตา
โฆสัปปมาณิกา : คนพวกที่ถือเสียงเป็นประมาณ, คนที่นิยมเสียง เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเพราะเสียง ชอบฟังเสียงไพเราะ เช่น เสียงสวดสรภัญญะ เทศน์มหาชาติเป็นทำนอง เสียงประโคม เป็นต้น; อีกนัยหนึ่งว่า ผู้ถือชื่อเสียงกิตติศัพท์ หรือความโด่งดังเป็นประมาณ เห็นใครมีชื่อเสียงก็ตื่นไปตาม
จตุธาตุววัตถาน : การกำหนดธาตุ ๔ คือ พิจารณาร่างกายนี้ แยกแยะออกไปมองเห็นแต่ส่วนประกอบต่างๆ ที่จัดเข้าไปในธาตุ ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย ทำให้รู้ภาวะความเป็นจริงของร่างกาย ว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ประชุมกันเข้าเท่านั้น ไม่เป็นตัวสัตว์บุคคลที่แท้จริง
จักขุวิญญาณ : ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะรูปกระทบตา, รูปกระทบตา เกิดความรู้ขึ้น, การเห็น
จักษุทิพย์ : ตาทิพย์ คือดูอะไรเห็นได้หมด ดู ทิพพจักษุ
จาคานุสสติ :
ระลึกถึงการบริจาค คือ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นจาคธรรมที่มีในตน ดู อนุสติ
จุตูปปาตญาณ :
ปรีชารู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย, มีจักษุทิพย์มองเห็นสัตว์กำลังจุติบ้าง กำลังเกิดบ้าง มีอาการดีบ้าง เลวบ้างเป็นต้น ตามกรรมของตน ดู วิชชา
จูฬปันถกะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง ในอสีติมหาสาวก เป็นบุตรของธิดาเศรษฐีกรุงราชคฤห์ และเป็นน้องชายของมหาปันถกะ ออกบวชในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่ามีปัญญาทึบอย่างยิ่ง พี่ชายมอบถาคาเพียง ๑ คาถาให้ ท่องตลอดเวลา ๔ เดือน ก็ท่องไม่ได้จึงถูกพี่ชายขับไล่ เสียใจคิดจะสึก พอดีพอพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสปลอบแล้วประทานผ้าขาวบริสุทธิ์ให้ไปลูบคลำพร้อมทั้งบริกรรมสั้นๆ ว่า “รโชหรณํ ๆๆ” ผ้านั้นหมองเพราะมือคลำอยู่เสมอ ทำให้มองเห็นไตรลักษณ์และได้สำเร็จพระอรหัต ท่านมีความชำนาญ แคล่วคล่อง ในอภิญญา ๖ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ฉลาดในเจโตวิวัฏฏ์; ชื่อท่านเรียกว่าง่ายๆ ว่าจูฬบันถก, บางแห่งเขียนเป็นจุลลบันถก
จูฬสุทธันตปริวาส : สุทธันตปริวาสอย่างเล็ก หมายความว่า ปริวาสที่ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลายคราวด้วยกัน จำจำนวนอาบัติและวันที่ปิดได้บ้าง อยู่ปริวาสไปจนกว่าจะเห็นว่าบริสุทธิ์
ใจดำ : ขาดกรุณา คือตนมีกำลังสามารถจะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ก็ไม่ช่วย เช่น เห็นคนตกน้ำแล้วไม่ช่วยเป็นต้น
ชาคริยานุโยค :
การประกอบความเพียร เครื่องตื่นอยู่ คือ เพียรพยายามปฏิบัติธรรม ไม่เห็นแก่นอน ตื่นตัวอยู่เป็นนิตย์ ชำระจิตไม่ให้มีนิวรณ์ ดู อปัณณกปฏิปทา
ญาณทัศนะ : การเห็นกล่าวคือการหยั่งรู้, การเห็นที่เป็นญาณ หรือ เห็นด้วยญาณ อย่างต่ำสุดหมายถึง วิปัสสนาญาณ นอกนั้นในที่หลายแห่งหมายถึง ทิพพจักขุญาณบ้าง มรรคญาณบ้าง และในบางกรณีหมายถึง ผลญาณบ้าง ปัจจเวกขณญาณบ้าง สัพพัญญุตญาณบ้าง ก็มี ทั้งนี้สุดแต่ข้อความแวดล้อมในที่นั้นๆ
ญาณทัสสนะ : การเห็นกล่าวคือการหยั่งรู้, การเห็นที่เป็นญาณ หรือ เห็นด้วยญาณ อย่างต่ำสุดหมายถึง วิปัสสนาญาณ นอกนั้นในที่หลายแห่งหมายถึง ทิพพจักขุญาณบ้าง มรรคญาณบ้าง และในบางกรณีหมายถึง ผลญาณบ้าง ปัจจเวกขณญาณบ้าง สัพพัญญุตญาณบ้าง ก็มี ทั้งนี้สุดแต่ข้อความแวดล้อมในที่นั้นๆ
ตถาคต : พระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกหรือตรัสถึงพระองค์เอง แปลได้ความหมาย ๘ อย่าง คือ ๑.พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือ เสด็จมาทรงบำเพ็ญพุทธจริยา เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก เป็นต้น เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น ๒.พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น คือทรงทำลายอวิชชาสละปวงกิเลสเสด็จไปเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น ๓.พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ คือ ทรงมีพระญาณหยั่งรู้เข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายหรือของธรรมทุกอย่าง๔.พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น คือ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ หรือปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมที่จริงแท้แน่นอน ๕.พระผู้ทรงเห็นอย่างนี้ คือ ทรงรู้เท่าทันสรรพอารมณ์ที่ปรากฏแก่หมู่สัตว์ทั้งเทพและมนุษย์ ซึ่งสัตวโลกตลอดถึงเทพถึงพรหมได้ประสบและพากันแสวงหา ทรงเข้าใจสภาพที่แท้จริง ๖.พระผู้ตรัสอย่างนั้น (หรือมีพระวาจาที่แท้จริง) คือ พระดำรัสทั้งปวงนับแต่ตรัสรู้จนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ล้วนเป็นสิ่งแท้จริงถูกต้อง ไม่เป็นอย่างอื่น ๗.พระผู้ทำอย่างนั้น คือ ตรัสอย่างใดทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น ๘.พระผู้เป็นเจ้า (อภิภู) คือ ทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือกว่าสรรพสัตว์ตลอดถึงพระพรหมที่สูงสุด เป็นผู้เห็นถ่องแท้ ทรงอำนาจ เป็นราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นเทพแห่งเทพ เป็นอินทร์เหนือพระอินทร์ เป็นพรหมเหนือประดาพรหม ไม่มีใครจะอาจวัดหรือจะทดเทียมพระองค์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ
ตทังคนิพพาน : “นิพพานด้วยองค์นั้น”, นิพพานด้วยองค์ธรรมจำเพาะ เช่น มองเห็นขันธ์ ๕ โดยไตรลักษณ์แล้วหายทุกข์ร้อน ใจสงบสบายมีความสุขอยู่ตลอดชั่วคราวนั้นๆ, นิพพานเฉพาะกรณี
ตีรณปริญญา : กำหนดรู้ขั้นพิจารณา คือ กำหนดรู้สังขารด้วยการพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ ว่าสิ่งนั้นๆ มีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (ข้อ ๒ ในปริญญา ๓)
ตู่ : กล่าวอ้างหรือทึกทักเอาของผู้อื่นว่าเป็นของตัว, กล่าวอ้างผิดตัว ผิดสิ่ง ผิดเรื่อง, ในคำว่า กล่าวตู่พระพุทธเจ้า หรือตู่พุทธพจน์ หมายความว่า อ้างผิดๆ ถูกๆ, กล่าวสิ่งที่ตรัสว่ามิได้ตรัส กล่าวสิ่งที่มิได้ตรัสว่าได้ตรัสไว้, พูดให้เคลื่อนคลาดหรือไขว้เขวไปจากพุทธดำรัส, พูดใส่โทษ, กล่าวข่มขี่, พูดกด เช่น คัดค้านให้เห็นว่า ไม่จริงหรือไม่สำคัญ
ทมะ : การฝึก, การฝึกฝนปรับปรุงตน, การรู้จักข่มจิตข่มใจ บังคับควบคุมตนเองได้ ไม่พูดไม่ทำเพียงตามที่อยาก แต่พูดและทำตามเหตุผลที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่าดีงามสมควรเป็นประโยชน์ รู้จักปรับตัวปรับใจ และแก้ไขปรับปรุงตนด้วยปัญญาไตร่ตรองให้งอกงามดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ (ข้อ ๒ ใน ฆราวาสธรรม ๔)
ทัสสนะ : การเห็น, การเห็นด้วยปัญญา, ความเห็น, สิ่งที่เห็น
ทัสสนานุตตริยะ : การเห็นที่ยอดเยี่ยม (ข้อ ๑ ในอนุตตริยะ ๓ หมายถึงปัญญาอันเห็นธรรม ตลอดถึงเห็นนิพพาน; ข้อ ๑ ในอนุตตริยะ ๖ หมายถึง เห็นพระตถาคต ตถาคตสาวก และสิ่งอันบำรุงจิตใจให้เจริญ)
ทำร้ายด้วยวิชา : ได้แก่ ร่ายมนต์อาคมต่างๆ ใช้ภูตใช้ผีเพื่อทำผู้อื่นให้เจ็บตาย จัดเป็นดิรัจฉานวิชา เทียบตัวอย่างที่จะเห็นในบัดนี้ เช่น ฆ่าด้วยกำลังไฟฟ้า ซึ่งประกอบขึ้นด้วยอำนาจความรู้
ทิฏฐชุกัมม์ : การทำความเห็นให้ตรง, การแก้ไขปรับปรุงความคิดเห็นให้ถูกต้อง
ทิฏฐธัมมิกัตถะ : ประโยชน์ในปัจจุบัน, ประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มีทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ๑.อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ๒.อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา ๓.กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี ๔.สมชีวิตา การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้; มักเรียกคล่องปากว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์
ทิฏฐานุคติ : การดำเนินตามสิ่งที่ได้เห็น, แบบอย่าง, ตัวอย่าง, การทำตามอย่าง, ทางดำเนินตามที่ได้มองเห็น, เช่นพระผู้ใหญ่ปฏิบัติตนชอบ ก็เป็นทิฏฐานุคติของพระผู้น้อย
ทิฏฐาวิกัมม์ : การทำความเห็นให้แจ้ง ได้แก่ แสดงความเห็นแย้ง คือภิกษุผู้เข้าประชุมในสงฆ์บางรูปไม่เห็นร่วมด้วยคำวินิจฉัยอันสงฆ์รับรองแล้วก็ให้แสดงความเห็นแย้งได้
ทิฏฐิ : ความเห็น, ทฤษฎี; ความเห็นผิดมี ๒ คือ ๑.สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง ๒.อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ; อีกหมวดหนึ่ง มี ๓ คือ ๑.อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ ๒.อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ ๓.นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มี คือถืออะไรเป็นหลักไม่ได้ เช่น มารดาบิดาไม่มีเป็นต้น; ในภาษาไทยมักหมายถึงการดื้อดึงในความเห็น (พจนานุกรมเขียน ทิฐิ)
ทิฏฐิบาป : ความเห็นลามก
ทิฏฐิมานะ : ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น ในที่นี้หมายถึงความเห็นดื้อดึง ถึงผิดก็ไม่ยอมแก้ไข มานะ ความถือตัว รวม ๒ คำ เป็นทิฏฐิมานะ หมายถึงถือรั้น อวดดี หรือดึงดื้อถือตัว
ทิฏฐิวิบัติ : วิบัตแห่งทิฐิ, ความผิดพลาดแห่งความคิดเห็น, ความเห็นคลาดเคลื่อน ผิดธรรมผิดวินัย ทำให้ประพฤติตนนอกแบบแผน ทำความผิดอยู่เสมอ (ข้อ ๓ ในวิบัติ ๔)
ทิฏฐิวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งความเห็น คือ เกิดความรู้ความเข้าใจ มองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง คลายความหลงผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ลงได้ (ข้อ ๓ ในวิสุทธิ ๗)
ทิฏฐิสามัญญตา : ความเป็นผู้มีความเสมอกันโดยทิฐิ, มีความเห็นร่วมกัน, มีความคิดเห็นลงกันได้ (ข้อ ๖ ในสารณียธรรม ๖)